26 กรกฎาคม 2559

: ชีวิตในการพักผ่อน


หลังจากการสร้างโลก "พระเจ้าทอดพระเนตรทุกสิ่งที่ทรงสร้างขึ้น ทรงเห็นว่าดียิ่งนัก" (ปฐมกาล 1:31) พระเจ้าได้ใช้เวลามาชื่นชมทุกสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา และพร้อมกับการชื่นชมพระเจ้าก็ใช้วันต่อมาทั้งวันมา "หยุดพักจากพระราชกิจทั้งปวงของพระองค์" (ปฐมกาล 2:2) การหยุดพักนี้ไม่ใช่หยุดเพราะเหนื่อย แต่เป็นการหยุดจากการงานสร้าง เพราะทุกอย่างที่ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้านั้น"ดียิ่งนัก" หรือ สมบูรณ์ไม่มีที่ติ ไม่ต้องมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไข และในวันที่เจ็ดพระเจ้าได้ "...ทรงอวยพรวันที่เจ็ดและทรงตั้งขึ้นเป็นวันบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์..." (ปฐมกาล 2:3) ความบริสุทธิ์คือการถูกแยกออกมาให้พระเจ้า วันที่มายอมรับกันว่าทุกสิ่งรวมถึงชีวิตเราล้วนมาจากพระเจ้าซื่งเป็นทั้งผู้จัดเตรียมและจัดสรร เป็นวันเวลาที่เราต่างมาชื่นชมกับการงานของพระเจ้าว่าเป็นการงานที่สมบูรณ์และเพียงพอ เป็นวันที่เราสามารถพักผ่อนหรือใชัชีวิตอยู่บนผลของการงานของพระเจ้าที่ทำสำเร็จแล้ว นี่คือวันสะบาโตแรกที่พระเจ้าได้มอบให้กับมนุษย์ “วันสะบาโตมีขึ้นเพื่อมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์มีขึ้นเพื่อวันสะบาโต" (มาระโก 2:27)

หนังสืออพยพได้บันทึกว่าอิสราเอลได้ถือรักษาวันสะบาโตมาตลอด เช่นในเวลาที่พระเจ้าส่งมานาลงมาให้อิสราเอล โมเสสบอกกับพวกอิสราเอลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่า ‘ให้พรุ่งนี้เป็นวันแห่งการหยุดพักคือวันสะบาโตอันบริสุทธิ์แด่องค์พระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นวันนี้จงปิ้งหรือต้มอาหารไว้ตามความต้องการ แล้วเก็บส่วนที่เหลือไว้จนรุ่งเช้า’ดังนั้นพวกเขาจึงเก็บอาหารไว้จนรุ่งเช้าตามที่โมเสสสั่งไว้ และอาหารนั้นก็ไม่เน่าเหม็นและไม่มีหนอน โมเสสกล่าวว่า “นี่เป็นอาหารของท่านสำหรับวันนี้ เพราะวันนี้เป็นวันสะบาโตแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านจะไม่พบอาหารตามพื้นดินในวันนี้ ตลอดหกวันท่านจงเก็บอาหาร แต่วันที่เจ็ดเป็นวันสะบาโต จะไม่มีอาหารให้เก็บ”(อพยพ 16:23-26) วันสะบาโตถูกย้ำถึงการจัดเตรียมและการงานของพระเจ้าที่สมบูรณ์เพื่อให้เรามาชื่นชมโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมาเพิ่มเติม ยิ่งไปกว่านั้น ใน ฉธบ.5:12-14   "จงรักษาวันสะบาโต....จะได้พัก" วันสะบาโตเป็นหนึ่งในบัญญัติที่พระเจ้าสั่งไว้ให้รักษา พระเจ้าได้อธิบายต่อว่าทำไมอิสราเอลควรรักษาวันสะบาโต "จงระลึกว่าพวกเจ้าเคยเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ และพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้านำเจ้าออกมาโดยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์และพระกรที่เหยียดออก ฉะนั้นพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าจึงทรงบัญชาให้เจ้ารักษาวันสะบาโต" (ฉธบ. 5:15) วันสะบาโตจึงเป็นวันที่ให้มายอมรับถึงการงานที่พระเจ้าได้ทำสำเร็จแล้วเพื่ออิสราเอลจะได้พัก และไม่ต้องอยู่แบบทาสอีกต่อไปที่ต้องพึ่งการงานของตัวเองเพื่อให้อยู่รอด สุดท้ายในยุคพระคัมภีร์เดิม วันสะบาโต "...เป็นพันธสัญญานิรันดร์..." (อพย.31:16) เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าวันสะบาโตเป็น "...หมายสำคัญระหว่างเรากับเจ้าสืบไปทุกชั่วอายุ เพื่อเจ้าจะรู้ว่าเราคือพระยาห์เวห์ผู้ทำให้เจ้าบริสุทธิ์" (อพย. 31:13)

ฮีบรู 10:1 "บทบัญญัติเป็นแต่เพียงเงาของสิ่งประเสริฐซึ่งจะมาถึง ไม่ใช่ของจริง เพราะเหตุนี้จึงไม่สามารถทำให้ผู้เข้าเฝ้านมัสการสมบูรณ์..." โคโลสี 2:16-17 "เพราะฉะนั้นอย่าให้ใครมาตัดสินท่านจากสิ่งที่ท่านกินหรือดื่มหรือเกี่ยวกับเทศกาลทางศาสนา ไม่ว่าวันฉลองขึ้นหนึ่งค่ำหรือวันสะบาโต สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของสิ่งที่จะมาภายหลัง ส่วนความจริงแท้พบอยู่ในพระคริสต์" บัญญัติในยุคพระคัมภีร์เดิมรวมถึงวันสะบาโตล้วนเป็น"เงาของสิ่งที่จะมาภายหลัง ส่วนความจริงแท้พบอยู่ในพระคริสต์" ทุกบัญญัติชี้ไปถึงพระเยซู ชี้ถึงพระเยซูว่าเป็นใคร ชึ้ถึงการงานของพระเซู ชี้ถึงผลของการงานของพระเยซูที่มีต่อทุกสรรพสิ่ง บัญญัติทั้งหลายที่ทำในกายภาพก็สำเร็จเป็นนิรันดร์ในพระเยซู เช่นการถวายเครื่องบูชาในพันธสัญญาเดิมที่ต้องถวายซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกๆ ปีไม่มีสิ้นสุด การถวายนี้สุดท้ายก็ชี้ถึงว่าพระเยซูเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์และเป็นจริง พระเยซูจึง"...ถวายพระกายของพระเยซูคริสต์เป็นเครื่องบูชาเพียงครั้งเดียวเป็นพอ" (ฮีบรู 10:10) "เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลาย ในเมื่อเรามั่นใจที่จะเข้าสู่อภิสุทธิสถานโดยพระโลหิตของพระเยซู โดยหนทางใหม่อันมีชีวิตซึ่งเปิดให้เราผ่านม่านคือพระกายของพระองค์" (ฮีบรู 10:19-20) เราจึงหยุดถวายเพราะพระเยซู และทุกคนที่เชื่อก็ถูกอภัยบาปทั้งสิ้น "...เมื่อทรงอภัยบาปให้แล้วก็ไม่ต้องมีการถวายเครื่องบูชาสำหรับไถ่บาปอีกเลย" บัญญัติทั้งหลายจึงสำเร็จในพระเยซู


วันสะบาโตก็เป็นเงาที่ช่วยชี้ไปถึงความจริงในพระเยซูเช่นกัน วันสะบาโตจึงเปลี่ยนจากกายภาพเป็นนิรันดร์ วันสะบาโตจึงไม่ใช่เป็นวันใดวันหนึ่งในสัปดาห์อีกต่อไปแต่เป็นสถานภาพที่ผู้เชื่อมีชีวิตที่พักผ่อนเพราะพระเยซูได้ทำทุกอย่างเพื่อเราแล้ว ได้ทำทุกอย่างเพื่อเราทั้งหลายสามารถกลับมาอยู่กับพ่อ การใช้ชีวิตในสะบาโตแห่งการพักสงบก็เหมือนกับสะบาโตแรก คือมาชื่นชมในการงานของพระเจ้า โดยเฉพาะที่พระเยซูได้ทำไว้บนกางเขนและการเป็นขึ้นจากความตาย ซึ่งเป็นการงานที่สมบูรณ์ไม่มีที่ติ ที่มนุษย์เราไม่สามารถเพิ่มเติมอะไรได้ เราจึงหยุดจากการกระทำที่คิดว่าจะช่วยให้เราดีพอต่อพระเจ้า ให้เราเชื่อว่าการตายบนไม้กางเขนและการเป็นขึ้นเพียงพอแล้วสำหรับให้เราทุกคนที่เป็นผู้เชื่อได้เป็นผู้ชอบธรรมและบริสุทธิ์ หรือดีพอเสมอสำหรับพระเจ้า ทั้งหมดเป็นเพราะพระเยซู เราแค่เชื่อวางใจและใช้ชีวิตตามผลของการงานของพระเจ้า ดังนั้น บนกางเขนพระเยซูจึงพูดออกมาว่า “สำเร็จแล้ว” .....








23 กรกฎาคม 2559

: จุดหมายที่พระเจ้าให้มีธรรมบัญญัติ ความหมายของบาป และข่าวดีของพระเยซู

อ้างอิงบทความที่แล้วนะครับที่ผมเขียนเรื่องความหมายของ "บาป" วันนี้จะมาเจาะจงเรื่องธรรมบัญญัติอย่างเดียวเลยนะครับว่า มันคืออะไร .. เพื่ออะไร...

เกริ่นง่ายๆว่าหลังจากอาดัมและเอวาพลาดในการไม่เชื่อฟังพระเจ้าในสวนเอเดน ซึ่งเป็นที่แรกที่ "บาป" เริ่มถูกระบุตัวตนใน ปฐมกาล 4:7 ว่าหากคาอินทำไม่ดี "บาป" ก็รอเล่นงานอยู่ และเป็นจุดเริ่มต้นที่พระคัมภีร์บอกว่าเราในรุ่นต่อๆมาตกอยู่ภายใต้อานุภาพของมาร 1 ยอห์น 5:19 "เรารู้ว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้าและทั่วทั้งโลกอยู่ใต้การควบคุมของมารร้าย"  ไอ้คำว่า "การควบคุมของมารร้าย" นี่แหละครับที่ผมบอกว่ามันเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า"บาป"


มนุษย์ไม่ตระหนักว่าฤทธิ์อำนาจการควบคุมของมารที่เรียกว่า "บาป" มีอยู่จริง มนุษย์รุ่นต่อๆมาก็ได้สร้างศาสนาและให้มีศีลต่างๆเพื่อตัวเองจะได้ทำตามและให้การกระทำนั้นยกระดับตัวเองให้ใกล้พระเจ้ามากขึ้น ส่วนคนยิวที่เชื่อว่าตัวเองนั้นเป็นชนชาติพิเศษอยู่แล้วนั้น พระเจ้าฉลาดมากครับวางแผนแยบยลจะช่วยคนยิวโดยการให้มีบัญญัติ. และเป็นบัญญัติที่เยอะด้วยจำนวนและความยาก คนยิวก็เชื่อแบบหัวปักหัวปำว่าตัวเองต้องทำได้  ปรากฎว่าจริงๆแล้วแม้แต่คนยิวก็ทำตามบัญญัติไม่ได้และล้มเหลวในการติดตามพระเจ้าและหันไปทำบาปนับครั้งไม่ถ้วน ข้อที่ง่ายที่สุดว่าอย่าหันไปไหว้พระอื่น ก็ยังทำไม่ได้  แต่เขาก็ยังพยายามทำต่อกันมาเรื่อยๆครับ และหวังว่าจะทำได้

โรม 3:20 "ฉะนั้นไม่มีใครได้ชื่อว่าเป็นผู้ชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้าโดยการรักษาบทบัญญัติ บทบัญญัติเพียงแต่ทำให้เรารู้ตัวว่ามีบาป"
โรม 7:13 "ก็แล้วสิ่งที่ดีงามกลับเป็นความตายสำหรับข้าพเจ้าหรือ เปล่าเลย! แต่เพื่อให้รู้จักว่าบาปคือบาป บาปจึงก่อความตายขึ้นในข้าพเจ้าผ่านทางสิ่งที่ดี เพื่อว่าโดยทางพระบัญญัติจะได้เห็นว่าบาปนั้นเลวร้ายอย่างยิ่ง"

เปาโลบอกในหนังสือโรมชัดเจนครับว่าบัญญัติมีไว้เพื่อเปิดโปงงานของมารที่เรียกว่า "บาป" ว่ามีอยู่จริง วิธีที่พระเจ้าใช้คือให้มีบัญญัติที่เรียกว่ากฎที่ให้ชีวิต แต่มนุษย์จะพยายามอย่างไรก็ทำตามไม่ได้ แล้วเขาจะมาถึงจุดที่ค้นพบว่าฤทธิ์อำนาจของมารที่เรียกว่า "บาป" มีอยู่จริง และจะมาถึงจุดที่ต้องการให้พระเยซูเข้ามาช่วยปลดปล่อยจากงานของมารและเป็นอิสระจาก "บาป"


สรุป 1 ครับ บัญญัติของยิวหรืออาจบอกได้ว่าศีลต่างๆที่พระเจ้าให้มีขึ้นนั้นจุดหมายมิใช่เพื่อให้เราทำให้ได้ จุดหมายจริงๆเพื่อเปิดโปงงานของมารที่เรียกว่า"บาป"

สรุป 2 ความหมายของคำว่าบาปที่เปาโลกล่าวถึงไม่ได้หมายถึงการละเมิด แต่หมายถึงมารและการงานของมารโดยตรงครับ

สรุป 3 พระเยซูเข้ามาอยู่ในเราที่เชื่อ บัญญัติได้ถูกจารึกในเรา เรามี พระเยซูอยู่ข้างใน และเป็นอิสระจาก"บาป"และมารแล้ว นี่คือข่าวดี

ขอพระเจ้าอวยพร สวัสดี
หมื่นลี้



21 กรกฎาคม 2559

: อะไรช่วยให้คริสตจักรเติบโต


จากเอเฟซัส 4:11,12 "พระองค์เองทรงให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์ เพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้าสำหรับงานรับใช้ เพื่อว่าพระกายของพระคริสต์จะได้รับการเสริมสร้างขึ้น"

นี่เป็นพระคัมภีร์ที่คนทั่วไปเข้าใจกันว่าพระเจ้าได้ให้ 5 "ตำแหน่ง" สำคัญในโบสถ์เพื่อช่วยให้คริสตจักรเติบโตขึ้น แต่นอกเหนือกจาก 5 ตำแหน่ง หรือ ขอใช้คำว่า”หน้าที่”นี้แล้ว จากพระคัมภีร์ โรม 12:4-8 ที่เกี่ยวกับของประทานก็ได้พูดถึงหน้าที่หรือตำแหน่งอื่นๆด้วย เช่น การเผยพระวจนะ การสั่งสอน การปรนนิบัติรับใช้ การให้กำลังใจ การช่วยเหลือในสิ่งที่ผู้อื่นขัดสน ฯลฯ ซึ่งทุกหน้าที่บทบาทล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ "เพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้าสำหรับงานรับใช้ เพื่อว่าพระกายของพระคริสต์จะได้รับการเสริมสร้างขึ้น" 
การมีตำแหน่งก็มีข้อดีในเวลาที่เหมาะสม เช่น ในคริสตจักรบางทีก็พูดถึงตำแหน่ง เช่น "ผู้นำนมัสการ" หรือ "ผู้นำประชุม" หรือ “ผู้เทศนาแบ่งปัน" เพื่อการชัดเจนในการรับผิดชอบ ซึ่งผู้ที่อยู่ในแต่ละตำแหน่งเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและเวลา บางคนอาจอยู่ในตำแหน่งนานโดยไม่มีการผลัดเปลี่ยน 

คำถามสำคัญคือ อะไรเป็นตัวตัดสินใจว่าเราควรให้ตำแหน่งกับใครในเวลาไหน ในโรม 12:4-8 จะพูดเสมอว่า "...ถ้าผู้ใดมีของประทานด้าน..." นั่นชี้ถึงว่าคนที่มีของประทานน่าจะมีวิถีชีวิตที่แสดงบทบาทหรือหน้าที่ของของประทานนั้นออกมาจนคนอื่นๆเห็นได้ จากนั้นพระคัมภีร์ได้พูดต่อว่า "...ก็ให้ผู้นั้นใช้ของประทานนี้..." คำว่า "ก็ให้" หมายถึงหลังจากรู้ว่าใครมีของประทานแล้ว ก็ให้คริสตจักรยอมรับคนนั้น(อาจด้วยตำแหน่ง)และสนับสนุนให้ทำหน้าที่หรือบทบาทให้เต็มที่ นอกจากความสามารถแล้ว 

อีกสิ่งหนึ่งที่คริสตจักรต้องคำนึงก่อนให้การยอมรับหน้าที่เขา คือสภาพหัวใจของเขาที่พระคัมภีร์ได้พูดไว้ใน โรม 12:9-10 คือมีหัวใจที่รักพี่น้องด้วยใจจริง หรือแบบง่ายๆคือใส่ใจพี่น้อง ฉะนั้นในทางตรงข้ามถ้าเขาไม่ได้แสดงหรือใช้ของประทานเป็นวิถีชีวิต และหรือ สภาพหัวใจมีปัญหาที่จะรักพี่น้อง คงต้องมาช่วยคนๆนั้นและหวังว่าคนนั้นจะยอมรับและขอความช่วยเหลือให้หลุดจากสภาพเพื่อเขาจะสามารถทำหน้าที่ได้ดีอีกครั้งหนึ่ง แต่บางครั้งหากจำเป็นก็อาจจะต้องให้เขาหยุดบทบาทของเขาเพื่อเหตุผลต่างๆ เช่น เพื่อการรักษาเยียวยา เพื่อมีเวลาพักผ่อน ฯลฯ


ของประทานฯทั้งหมดเห็นได้ว่าเป็นของประทานที่ทั้งช่วยให้คริสตจักรดูแลสร้างสาวกผู้เชื่อ และนำข่าวดีออกไป ตามมัทธิว 28:19-20 "ดังนั้นจงไปสร้างสาวกจากมวลประชาชาติ ให้เขารับบัพติศมาใน พระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้เชื่อฟังทุกสิ่งที่เราสั่งพวกท่านไว้ และแน่นอน เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไปตราบจนสิ้นยุค" คริสตจักรเป็นตัวแทนของพระเจ้าบนโลก ชีวิตที่เรามีพระคริสต์อยู่ในเราควรเป็นชีวิตที่นำข่าวดีหรือการครอบครองของพระเจ้าไปสู่คนทั้งหลาย หน้าที่การ"เผยแพร่ข่าวประเสริฐ" และ การ"เป็นอัครทูต" (การส่งคนออกไปเผยแพร่ข่าวประเสริฐ) จึงเป็นหน้าที่หรือบทบาทที่สำคัญ เพราะสองหน้าที่นี้นำคนมาในครอบครัวของพระเจ้า แล้วหน้าที่อื่นๆค่อยตามมาภายหลัง 

พระคัมภีร์ได้พูดชัดมากว่าการให้คนเล่นบทบาทหรือทำหน้าที่ตามของประทานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขยายแผ่นดินพระเจ้าบนโลกผ่านคริสตจักร ข่าวดีคือพระเจ้าได้ให้ของประทานกับคริสตจักรแล้ว สิ่งที่เราสามารถตอบสนองได้คือเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเล่นบทบาทหรือทำหน้าที่ที่ช่วยให้คริสตจักรเติบโตได้  ไม่ใช่แค่คนบางคนเท่านั้นที่มีส่วน จากนั้นก็ให้เราสนใจคนอื่นๆทั้งในและนอกคริสตจักรเพื่อที่เราจะช่วยเหลือเขาได้ในเวลาที่เขาต้องการ จากการใช้ชีวิตอย่างนี้ให้เป็นวิถีชีวิต ของประทานเราก็จะเด่นชัดขึ้นเอง