31 สิงหาคม 2560

: เลือก


หลังจากมนุษย์ล้มลง พระเจ้าได้เข้ามาหาและถามหญิงว่า “เจ้าทำอะไรลงไป?” หญิงก็ตอบว่า “งูนั้นล่อลวงข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงกิน” (ปฐมกาล 3:13) คำตอบของหญิงเป็นการโยนความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตัวเองให้กับมาร "งูนั้นล่อ...ข้าพระองค์จึงกิน" แม้มารมาล่อลวง แต่สุดท้ายก็เป็นการเลือกของมนุษย์เองที่ตัดสินใจหันหลังจากพระเจ้าและเชื่อมาร เป็นการพึ่งตัวเอง ผลของการเลือกนั้นทำให้มนุษย์อายตัวเองและกลัวถูกพระเจ้าลงโทษ หญิงนั้นพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบโดยการโทษผู้อื่น ซึ่งกรณีนี้ก็คือมาร 

การโทษคนอื่นดูเหมือนเป็นทางที่มนุษย์ชอบหรือคุ้นเคยที่จะใช้ด้วยความเข้าใจว่าเป็นทางที่จะเอาตัวเองรอดจากการถูกลงโทษเพราะความกลัวและความอายต่อสิ่งที่ตัวเองได้ทำไป หรือเป็นการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้เลือกไป ซึ่งสามารถเห็นได้ในบุคคลต่างๆที่ถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ เช่น "เมื่อเหล่าประชากรเห็นว่าโมเสสล่าช้าไม่กลับลงมาจากภูเขา จึงพากันไปหาอาโรนและกล่าวว่า “มาเถิด ช่วยสร้างเทพเจ้าขึ้นมานำพวกเราไป เพราะเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับโมเสสผู้ที่นำพวกเราออกมาจากอียิปต์”"(อพยพ 32:1) แทนที่จะยอมรับถึงความกลัวที่มีอยู่แล้วหันไปเลือกที่จะไว้วางใจโมเสสและพระเจ้า ชาวอิสราเอลเลือกที่จะโทษโมเสสเพื่อเป็นข้ออ้างที่จะกลับไปสู่ตัวตนเก่าที่เป็นทาสต่อเทพเจ้า 

"ซามูเอลถามว่า “ท่านทำอะไรลงไป?”  ซาอูลตอบว่า “ข้าพเจ้าเห็นไพร่พลกระจัดกระจายไป และท่านไม่ได้มาตามเวลาที่กำหนดไว้ ฝ่ายชาวฟีลิสเตียก็มาชุมนุมกันอยู่ที่มิคมาช ข้าพเจ้าคิดว่า ‘ชาวฟีลิสเตียจะลงมาถล่มเราที่กิลกาลแล้ว เราเองก็ยังไม่ได้ขอความช่วยเหลือจาก องค์พระผู้เป็นเจ้า เลย’ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงจำต้องถวายเครื่องเผาบูชา”"(1ซามูเอล 13:11-12) กรณีนี้ซาอูลได้ละทิ้งตัวตนใหม่ของความเป็นกษัตริย์มาเป็นทาสของความกลัวโดยการโทษสถานการณ์ว่า 'ฝ่ายชาวฟีลิสเตียก็มาชุมนุมกันอยู่ที่มิคมาช' และโทษคนอื่นๆ เช่น โทษไพร่พล 'ข้าพเจ้าเห็นไพร่พลกระจัดกระจายไป' โทษซามูเอล
ด้วยว่า 'และท่านไม่ได้มาตามเวลาที่กำหนดไว้' สุดท้ายซาอูลก็อ้างสิ่งต่างๆนี้มาเป็นเหตุผลให้ความชอบธรรมกับการเลือกของตัวเอง 'ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงจำต้อง...' 

หรือ แม้สาวกของพระเยซูในพระคัมภีร์ใหม่ก็ไม่พ้นที่พร้อมจะหาคนโทษ หลังจากที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากความตาย พระเยซูได้เชิญชวนเปโตรเดินตามพระองค์ “จงตามเรามาเถิด!”(ยอห์น21:19) ด้วยการ '...เลี้ยงแกะของเรา...' และถามเปโตรสามครั้งว่า“ท่านรักเราหรือ?” แต่สุดท้ายเปโตรก็พร้อมที่จะหาคนโทษเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบใหม่ที่พระเยซูยื่นให้ "เปโตรหันมาเห็นสาวกที่พระเยซูทรงรักกำลังตามมา (นี่เป็นสาวกคนเดียวกับที่เอนกายพิงพระเยซูในระหว่างอาหารค่ำมื้อนั้นและทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า ใครคือผู้ที่จะทรยศพระองค์?”) เมื่อเปโตรเห็นเขาก็ทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า แล้วคนนี้เล่า?”"(ยอห์น 21:20-21) คำตอบของพระเยซูน่าสนใจมาก "พระเยซูตรัสตอบว่า “ถ้าเราต้องการให้เขามีชีวิตอยู่จนเรากลับมา จะเกี่ยวอะไรกับท่าน? ท่านต้องตามเรามา”"(ยอห์น 21:22) ดูเหมือนเปโตรพร้อมที่จะหาคนอื่นมาเป็นข้ออ้างที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อนหน้านี้เขาได้เลือกไว้  แต่คำตอบของพระเยซูที่มาในรูปคำถามเหมือนบอกว่าเราต้องเลือกเองและรับผิดชอบต่อการเลือกของเราเองด้วย

สิทธิ์ในการเลือกเป็นของเราทุกคน สิทธิ์นี้หมายถึงเสรีภาพในการได้เลือก การโทษสิ่งใดทำให้การเลือกของเราถูกกำหนดโดยสิ่งนั้นที่ไม่ใช่ตัวเรา การโทษเป็นการผูกมัดตัวเอง และเป็นการโยนสิทธิ์ในการเลือกออกไปยังสิ่งที่เราโทษ ซึ่งอาจนำเรากลับไปสู่ความเป็นทาสต่อสิ่งที่อยู่เบื้องหลังที่เป็นแรงขับเคลื่อน คือความกลัว ความอาย และความเจ็บ

ตัวตนจริงของเราจะถูกก่อตัวขึ้นมาและเติบโตขึ้นผ่านเสรีภาพในการเลือกของเรา เพราะเราต่างเลือกอยู่บนสิ่งที่เราให้คุณค่า และเลือกตามที่เรามองว่าตัวเองเป็นใคร เราคือใครจะเป็นตัวกำหนดว่าเรามีสิทธิอำนาจอะไร มีสิทธิพิเศษอะไร และมีภารกิจอะไรที่มาพร้อมกับสิทธิ์ทั้งหลายเหล่านั้น

สิทธิ์ในการเลือกเป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ได้มาจากการถูกสร้างตามพระฉาย ซึ่งก็หมายถึงว่าสิทธิ์นี้เป็นของพระเจ้า และพร้อมด้วยสิทธิ์นี้มนุษย์ใด้ถูกมอบหมายให้ไปครอบครองสรรพสิ่งบนโลกนี้ที่พระเจ้าใด้สร้างขึ้น “...’ให้เราสร้างมนุษย์ขึ้นตามแบบเรา ตามอย่างเราเพื่อให้เขาครอบครอง...’” (ปฐมกาล 1:26) การร่วมครอบครองกับพระองค์เป็นภารกิจพิเศษที่มีให้แต่กับมนุษย์ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่พระเจ้ามุ่งมั่นที่จะนำกลับคืนมาผ่านพระเยซูหลังการล้มลงของอาดัม (โรม 5:17; วิวรณ์ 20:6)

นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพระเจ้าแล้ว สิทธิ์ในการเลือกยังเป็นหลักฐานถึงความรักที่พระเจ้าให้กับมนุษย์ เป็นความรักที่ให้เสรีภาพแบบไม่มีเงื่อนไข พระเจ้าเป็นความรัก รักแท้ให้เสรีภาพในการเลือก เป็นเสรีภาพที่อยู่บนพื้นฐานของความรักไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว และเป็นเสรีภาพที่สามารถรับความรักและให้ความรักออกไป แม้มนุษย์เคยล้มลงอยู่ในความตาย แต่โดยพระเยซูและสิ่งที่พระเยซูได้ทำสำเร็จแล้วบนกางเขนและอุโมงค์ที่ว่างเปล่านั้น ทำให้ผู้เชื่อทั้งหลายในพระคริสต์ได้มีชีวิตใหม่ที่มีความรัก ทำให้เราสามารถเลือกที่จะรับความรัก และให้ความรักออกไปได้เสมอ 


สิทธิ์ในการเลือกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีค่ามากๆที่พระเจ้าได้มอบให้ อย่าเอาไปแลกหรือมอบให้สิ่งใดหรือผู้ใดง่ายๆ แม้เราจะกลัว อาย หรือเจ็บแค่ไหน ให้เราเลือกที่จะเชื่อว่าความรักของพระเยซูที่อยู่ในเรากับพระกายนั้นได้ถูกพิสูจน์ผ่านไม้กางเขนและอุโมงค์ว่างเปล่าแล้วว่าความรักนี้มีพลังยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะขจัดความกลัว ล้างความอาย เยียวยาความเจ็บของเราได้ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้ดับความรักที่มีอยู่ในเรา แต่ให้เราใช้สิทธิ์เลือกที่จะเป็นตัวของเราในพระคริสต์ที่มีฐานะเป็นลูกของพระเจ้า ที่พระองค์ได้สร้างขึ้นมาด้วยความรักเพื่อร่วมครอบครองกับพระองค์ และเลือกที่จะรักเสมอ เพราะพระเจ้าเป็นความรัก และพระคริสติ์อยู่ในเรา 



5 มิถุนายน 2560

: เรามีความรัก



เพราะว่า"พระเจ้าเป็นความรัก" แม้ความรักจะไม่ใช่พระเจ้า แต่ความรักเป็นเหมือนตัวแทนของพระเจ้า เป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้า เป็นของพระเจ้าผู้เดียว ดังนั้นทุกครั้งที่เราได้รับความรักหรือให้ความรักออกไป เราก็กำลังแตะต้องพระเจ้าอยู่  เรากำลังปลุกการสัมผัสต่อความจริงแห่งพระคริสต์ที่อยู่ในเรา อีกนัยหนึ่งเวลาที่มีความรักจึงเป็นเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ และเนื่องจากผู้เชื่อทุกคนมีพระคริสต์อยู่ในเรา เราจึงมีความรัก มีธรรมชาติใหม่ที่จะให้ความรักและรับความรักได้

การที่เราถูกสร้างตามพระฉายนั้น คือการถูกสร้างตามอย่างของพระเจ้าที่เป็นความรัก และตามอย่างความรักระหว่างตรีเอกานุภาพซึ่งเป็นความรักในรูปแบบชุมชน ไม่ใช่แค่การรักตนเองแต่สมบูรณ์ด้วยการรักผู้อื่นผ่านความสัมพันธ์และความผูกพัน ด้วยเหตุนี้อาดัมจึงไม่เหมาะที่จะอยู่คนเดียว


ความรักนี้เรียกหาและก่อให้เกิดความสัมพันธ์ เพราะความรักนี้มีธรรมชาติแห่งการให้ คือการไม่เห็นแก่ตัว คือการมองหาคนที่เรารักเสมอ ใครที่มีความรักจึงไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ชีวิตในพระคริสต์คือชีวิตแห่งความรัก เพราะฉะนั้นใครที่มีชีวิตที่ขาดความสัมพันธ์และผูกพัน ก็เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ขาดน้ำ มีแต่แห้งเหี่ยวลงไปทุกวัน

ในยุคพันธสัญญาใหม่ ผู้เชื่อมีพระวิญญาณองค์เดียวกัน "พระเจ้าเป็นความรัก"ในเราจึงก่อเกิดพระกายขึ้นมา เราต่างเป็นส่วนในพระกาย พระกายจึงคือความสัมพันธ์และความผูกพันที่ความรักตามอย่างพระเจ้านั้นสามารถเป็นจริงได้ผ่านการครอบครองของพระเจ้าในทุกคน

ในความตึงเครียดของช่วงเวลาที่แผ่นดินพระเจ้ายังไม่เต็มบริบูรณ์ พระกายบางครั้งก็ดูมีความเจ็บปวดมากกว่าความรัก แต่เป็นเวลาแบบนี้แหละที่ต้องการความรักเพราะเป็นเวลาที่ความรักจะแสดงพลังของมัน แม้ว่าเป็นเวลาที่ยากในการให้ความรัก แต่เรามีความหวังได้ ความหวังหมายถึงเรามีทางเลือกได้ เลือกที่จะรับความรักหรือให้ความรัก ไม่ใช่ด้วยตัวเราเองที่จะให้ความรักออกมา แต่ด้วยพระคริสต์ที่อยู่ในเรา เวลาเหล่านี้ความรักมักมาในรูปแบบการให้อภัย การฟัง การเข้าใจผู้อื่น หรือ อาจเป็นคำขอโทษ ฯลฯ

สุดท้ายโดยความรักในพระกายนี้ คนอื่นก็อาจสามารถเห็นพระเจ้าได้ และด้วยกันในขณะที่เราทุกคนต่างมารู้จักความรักนี้ เราก็สามารถนำแผ่นดินพระเจ้าให้คนอื่นผ่านการให้ความรักออกไป 

พระกายของคุณคือใคร และสภาพพระกายของคุณเป็นอย่างไร เป็นช่วงที่พระกายต้องการความรักใช่หรือไม่ ..... โปรดจำไว้เสมอว่าเราทุกคนมีความหวังได้เพราะพระคริสต์อยู่ในเรา.....ความหวังคือการที่เราสามารถเลือกได้ และเราหวังได้เพราะเราถูกรัก ความรักก่อให้เกิดความหวังเสมอ

(มัทธิว25:40; 1ยอห์น4:7-12; 1โครินธ์8:3; ยอห์น3:16,17)



22 มีนาคม 2560

: ฉันกลัว...ฉันอาย



ข้าพระองค์ได้ยินเสียงของพระองค์อยู่ในสวนก็กลัว เพราะข้าพระองค์เปลือยกายอยู่ จึงหลบซ่อนตัวเสีย(ปฐมกาล 3:10) 

นี่คือคำตอบของมนุษย์ต่อการเรียกหาจากพระเจ้า การล้มลงของมนุษย์หรือความบาปที่เกิดขึ้นนั้นได้ทำให้สูญเสียตัวตนที่พระเจ้าสร้างมา การสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตย่อมเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด มนุษย์เริ่มกลัวพระเจ้าเนื่องจากมองตัวเองเปลี่ยนไป ไม่สามารถยอมรับการเปลือยกายของตัวเองได้ มนุษย์รับตัวตนของตัวเองไม่ได้ และเชื่อว่าพระเจ้าพร้อมจะลงโทษ การไม่ยอมรับตัวเองคือการไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ผลกระทบหนึ่งจากการล้มลงหรือจากความบาปคือการอับอายในตัวเอง

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา มนุษย์ตกเป็นทาสของความอับอาย เพราะเชื่อว่าตัวตนของเราเป็นคนที่ "ไม่...พอ" เช่น ไม่สวยพอ ไม่หล่อพอ ไม่เก่งพอ ไม่น่ารักพอ ฯลฯ แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะเติมอะไรเข้าไปในช่องว่าง ซึ่งสุดท้ายก็คือไม่ดีพอที่ควรกับการถูกยอมรับ ถูกให้คุณค่า หรือถูกรัก และถ้าใครมาเจอตัวตนเรา ก็จะเชื่อว่าเราจะโดนปฏิเสธ โดนดูถูก หรืออาจถึงขั้นถูกทำร้าย คำโกหกนี้นำสู่ความกลัวได้หลายอย่าง เช่น กลัวที่จะเปิดตัวเองให้คนอื่น กลัวความใกล้ชิด ยากที่จะไว้ใจคน เป็นต้น ความกลัวที่เกิดจากความอับอายนี้จะพาเราไปหลบซ่อน สุดท้ายก็ต้องหาสิ่งต่างๆจากภายนอกมาปกปิดหรือเติมแต่งเพื่อให้เชื่อว่าเราดีพอ เช่น ด้วยการโกหกบิดเบือนปกปิดความจริง ด้วยการสร้างพื้นที่ให้ตัวเองโดยการหนีจากที่ที่ทำให้เราอายไปยังที่ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ด้วยการตามกระแสนิยมเพื่อจะได้รับการยอมรับจากหมู่คนทั่วไป และด้วยการเสพติดสิ่งต่างๆที่ทำให้มีความรู้สึกดีต่อตัวเอง อาจเป็นสารเสพติด หรือการงาน หรือเรื่องเพศ หรืองานรับใช้ เป็นต้น บางเวลาก็เชื่อว่าสิ่งที่ถูกนำมาใช้ปกปิดเติมแต่งนั้นคือตัวตนใหม่ของเรา และลืมไปว่ายังอายอยู่ เหมือนที่อาดัมเอาใบไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่ชั่วคราวมาปกปิดเติมแต่ง นั่นก็หมายความว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์แค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถปกปิดสิ่งที่เราอายในตัวเราได้อย่างถาวร พอถึงเวลาที่หมดค่าเราก็ต้องหามาใหม่ ไม่มีวันจบสิ้น ชีวิตก็วนเวียนอยู่ในวงจรหลบซ่อนเพราะอาย ดังนั้นความอับอายที่ไม่ได้ถูกกำจัดจึงเป็นอารมณ์ที่น่ากลัวเพราะอารมณ์นี้จะกลายเป็นพลังมหาศาลที่ขับเคลื่อนชีวิตและเปลี่ยนชีวิตให้เป็นทาสแทนที่จะมีเสรีภาพเป็นตัวตนที่แท้จริง

เบื้องหลังความกลัวและความอายคือความเจ็บปวดที่เกิดจากความบาปทั้งที่ถูกกระทำและหรือกระทำเอง ความเจ็บปวดที่ไม่ได้รับการรักษาจะก่อเกิดคำโกหกที่ทำให้เราอายต่อตัวเอง การที่จะหลุดจากความอายอย่างสิ้นเชิงสุดท้ายคือการเผชิญกับความเจ็บและมอบให้พระเยซูมารักษาเยียวยา กระบวนการนี้เริ่มจากความรู้สึกที่เบื่อหน่ายและเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับชีวิตที่หลบซ่อน ยอมมองหาและรับความช่วยเหลือแม้อารมณ์อาจบอกว่า "ฉันไม่เข้าใจว่าจะหลุดได้อย่างไร...และถ้าหลุดแล้วฉันจะเป็นอย่างไร" ช่วงนี้คงเหมือนชาวอิสราเอลหลังจากที่เป็นทาสมา 400 กว่าปี พวกเขาคงยากจะเข้าใจว่าการมีชีวิตที่มีตัวตนนั้นเป็นอย่างไรและคงงงๆว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ความกลัวที่เกิดจากความอายทำให้ยากที่จะไว้ใจคนที่มาช่วย 

ในช่วงเวลาแบบนี้ขอเป็นกำลังใจให้คุณมองหาความรักที่มีให้กับเราโดยเฉพาะที่ไม้กางเขน ที่ซึ่งได้มีการสำแดงและพิสูจน์ความรักที่มีต่อเราทุกคน ความรักที่สมบูรณ์สามารถกำจัดความกลัวออกไปได้ กระบวนการรักษาทั้งหมดทุกขั้นตอนคือการมีความรักจากพระเยซูพาเราเผชิญความเจ็บปวด และทำลายคำโกหก และสุดท้ายมีตัวตนที่แท้จริงจากชีวิตใหม่ คือชีวิตที่มีพระคริสต์ในเรา

(ปฐมกาล3; ยอห์น4:1-24; สดุดี32; โรม 4:25; 5:5; 6:4-7; 1ยอห์น3:16;4:9-10;18)






19 มกราคม 2560

: กำเนิดแห่งความหวัง

ส่วนใหญ่เราจะถูกสอนว่าให้เราทำในปัจจุบันให้ดีที่สุด บางครั้งคำสอนนี้ก็จะบอกด้วยว่าอย่าไปคิดมากกับเรื่องอนาคต อย่างกับว่าอนาคตอยู่ไกลเกินไป     ......

แต่ถ้ามาหยุดคิดหน่อย จะพบว่าเวลาไม่เคยหยุด เวลามีแต่ผ่านไป ไม่มีแม้กระทั่งชะลอลง ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์อยู่ในโลกที่หมุนไปตามกาลเวลา ทุกวินาทีของการใช้ชีวิตของมนุษย์จึงเป็นการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่อนาคตด้วย เพราะวินาทีหน้าก็จะกลายเป็นปัจจุบันและอีกแป๊ปเดียวก็กลายเป็นอดีตไป นั่นหมายความว่าเราทุกคนกำลังใช้ชีวิตเข้าสู่อนาคตตลอดเวลา หรือจะพูดว่าอนาคตเข้ามาหาเราทุกวินาทีเหมือนกับกาลเวลาที่ไม่หยุดยั้งหรือชะลอลง และไม่ได้อิงกับการตัดสินใจของเราด้วย ชีวิตเราจึงเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงสองกาลเวลาเสมอ คือปัจจุบันและอนาคต กาลเวลาพาเรามาเผชิญกับอนาคตตลอดเวลา


การจะเผชิญกับอนาคตอย่างไรล้วนขึ้นอยู่กับการเลือกของเราที่บ่อยครั้งมักขับเคลื่อนโดยความกลัวหรือไม่ก็ความหวัง ความกลัวเป็นอารมณ์และความคิดจากความเชื่อที่ว่าจะมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นในอนาคต ความกลัวกักขังและจำกัดพื้นที่ชีวิตของเราเสมอ เหมือนดังอาดัมมนุษย์คนแรก ความกลัวทำให้เขาแอบจนไม่สามารถออกมาเจอหน้ากับพระเจ้า แม้ว่าพระเจ้าเป็นผู้ริเริ่มเข้ามาและเรียกหามนุษย์หลังจากที่มนุษย์ล้มลง หรือชาวอิสราเอลยุคแรกที่กลัวชาวคานาอันจนไปจำกัดความสามารถ ความซื่อสัตย์และความรักของพระเจ้า 

แต่... ความหวังเป็นอารมณ์และความคิดจากความเชื่อที่ว่าจะมีสิ่งดีกว่าปัจจุบันมากๆจะเกิดขึ้นในอนาคต ความหวังขยายขอบเขต เปิดโลกกว้างให้กับชีวิตเรา และยังเป็นพลังเปลี่ยนเราจากการเป็นผู้ถูกรุกรานกลายเป็นฝ่ายที่รุกเข้าหาอนาคต เหมือนที่พระเจ้าสัญญากับโยชูวาว่าในอนาคตจะมีสิ่งที่ดีกว่าปัจจุบัน จากโยชูวา 1:3-6 “ทุกแห่งที่พวกเจ้าเหยียบย่างไปเราจะยกที่แห่งนั้นให้พวกเจ้า.... ดินแดนของพวกเจ้าจะมีอาณาเขตตั้งแต่ถิ่นกันดารถึง... ไม่มีใครยืนหยัดเจ้าได้ตลอดชีวิตของเจ้า... เจ้าจะนำประชากรเหล่านี้เข้าไปครอบครองดินแดนซึ่งเราปฏิญาณไว้กับบรรพบุรุษของพวกเขา...”  โยชูวาจึงนำอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดนเข้าสู่แผ่นดินพันธสัญญา หรืออับราฮัมที่ได้รับพระสัญญาเกี่ยวกับอนาคตที่ดีมาก จากโรม4:18  “ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีความหวังใดๆ อับราฮัมก็ยังเชื่อ เพราะเขามีความหวัง เขาจึงได้เป็นบิดาของหลายชนชาติ”

ฮีบรู11:1 “ความเชื่อคือความแน่ใจในสิ่งที่เราหวังไว้และมั่นใจในสิ่งที่เรามองไม่เห็น” และจาก โรม4:18 “...อับราฮัมก็ยังเชื่อ เพราะเขามีความหวัง...” ข้อพระคัมภีร์นี้ได้แสดงถึงว่าความหวังและความเชื่ออยู่คู่กันเสมอ ความหวังสัญญาถึงปลายทางที่ดีกว่าปัจจุบัน ความเชื่อเปรียบเหมือนเชื้อเพลิงที่ถูกจุดขึ้นโดยการได้รับแรงบันดาลใจจากความหวังมาขับเคลื่อนชีวิตเรา ในยามยากลำบากความหวังและความเชื่อจึงเป็นกำลังสำคัญให้เราเดินออกจากปัจจุบันเข้าสู่อนาคต โรม 5:2-4 “โดยทางพระองค์เราจึงได้เข้าในร่มพระคุณที่เรายืนอยู่นี้ด้วยความเชื่อ และเราจึงชื่นชมยินดีในความหวังที่จะได้มีส่วนในพระเกียรติสิริของพระเจ้า ไม่เพียงเท่านั้นแต่เรายังชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากของเราด้วย เพราะเรารู้ว่าความทุกข์ยากนั้นก่อให้เกิดความบากบั่น ความบากบั่นทำให้เรามีอุปนิสัยที่พิสูจน์แล้วว่าใช้การได้ และอุปนิสัยเช่นนั้นทำให้มีความหวัง” 

บางเวลาอาจยากมากที่จะเชื่อในความหวัง หรือยากมากที่จะมีความหวัง ในเวลานั้นมีอยู่สิ่งหนึ่งที่สามารถให้กำเนิดความหวัง ในโรม 5:5 ความหวังไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะพระเจ้าทรงเทความรักของพระองค์เข้ามาในจิตใจของเราโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้ซึ่งพระเจ้าได้ประทานแก่เรา” ความหวังเกิดขึ้นจากการที่เราถูกรัก ความรักคือการให้ คือการที่เราไม่ถูกจดจำความผิดและถูกกล่าวโทษ คือการที่ได้รับโอกาสใหม่เสมอ คือการที่มีคนคำนึงถึงประโยชน์ของเราก่อนตัวเขาเอง คือการที่มีคนให้แต่ความจริง คือได้รับการยอมรับและเห็นถึงความดีในตัวเราเสมอ คือการที่มีคนเชื่อและมีความหวังในตัวเราเสมอ (จาก 1โครินธ์13:4-8) ความรักตามที่กล่าวมานี้เติมคุณค่าให้กับชีวิต การถูกรักช่วยให้รู้สึกถึงความปลอดภัย ความไว้วางใจและการเชื่อมต่อระหว่างทั้งสองคน จากการถูกรักเราก็จะรักกลับด้วยการเห็นชอบกับสิ่งที่คนที่รักเราเชื่อ จึงเป็นธรรมชาติที่เราเริ่มมีความหวังเพราะเขามีความหวังในตัวเรา การถูกรักปลดปล่อยพลังแห่งความหวัง และเป็นพลังที่สามารถพิชิตความกลัว  ดังใน1ยอห์น4:18 “ในความรักไม่มีความกลัว แต่ความรักที่สมบูรณ์ย่อมขจัดความกลัวออกไป เพราะความกลัวเกี่ยวข้องกับการลงโทษ ผู้ที่กลัวก็ยังไม่มีความรักที่สมบูรณ์”

ในยามหม่นหมองรู้สึกกลัวและไม่มีความหวังที่จะเผชิญกับอนาคตที่มีแต่ถาโถมเข้ามาแบบไม่หยุดยั้งหรือชะลอลง ในเวลาอย่างนี้ให้เรามองหาความรักรอบๆชีวิต โดยเฉพาะความรักของพ่อที่ได้ยืนยันอย่างประจักษ์ได้บนไม้กางเขน 1ยอห์น4:9,10 “นี่คือวิธีที่พระเจ้าทรงสำแดงความรักของพระองค์ท่ามกลางเราทั้งหลาย คือพระองค์ทรงส่งพระบุตรองค์เดียวของพระองค์เข้ามาในโลกเพื่อเราจะได้มีชีวิตโดยทางพระบุตรนั้น นี่คือความรัก ไม่ใช่ที่เรารักพระเจ้า แต่ที่พระเจ้าทรงรักเราและทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเป็นเครื่องบูชาลบบาปของเรา” และอุโมงค์ว่างเปล่าก็ได้นำสู่ความรักนิรันดร์ คือพระคริสต์ในเรา (โรม 6:4, โคโลสี 1:27)  ชีวิตของเราจึงมีความรักอยู่รอบล้อมเราเสมอ เป็นความรักที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบันและก้าวเข้าสู่อนาคตอย่างมั่นใจ มีชีวิตชีวา 


สุดท้าย ความหวังคือแรงบันดาลใจ ความเชื่อคือเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อน แต่ความรักคือแหล่งกำเนิดของทั้งสองสิ่ง  1โครินธ์ 13:13 “ฉะนั้นสามสิ่งนี้ยังคงอยู่คือ ความเชื่อ ความหวังใจ และความรัก แต่ความรักยิ่งใหญ่ที่สุด