31 สิงหาคม 2560

: เลือก


หลังจากมนุษย์ล้มลง พระเจ้าได้เข้ามาหาและถามหญิงว่า “เจ้าทำอะไรลงไป?” หญิงก็ตอบว่า “งูนั้นล่อลวงข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงกิน” (ปฐมกาล 3:13) คำตอบของหญิงเป็นการโยนความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตัวเองให้กับมาร "งูนั้นล่อ...ข้าพระองค์จึงกิน" แม้มารมาล่อลวง แต่สุดท้ายก็เป็นการเลือกของมนุษย์เองที่ตัดสินใจหันหลังจากพระเจ้าและเชื่อมาร เป็นการพึ่งตัวเอง ผลของการเลือกนั้นทำให้มนุษย์อายตัวเองและกลัวถูกพระเจ้าลงโทษ หญิงนั้นพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบโดยการโทษผู้อื่น ซึ่งกรณีนี้ก็คือมาร 

การโทษคนอื่นดูเหมือนเป็นทางที่มนุษย์ชอบหรือคุ้นเคยที่จะใช้ด้วยความเข้าใจว่าเป็นทางที่จะเอาตัวเองรอดจากการถูกลงโทษเพราะความกลัวและความอายต่อสิ่งที่ตัวเองได้ทำไป หรือเป็นการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้เลือกไป ซึ่งสามารถเห็นได้ในบุคคลต่างๆที่ถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ เช่น "เมื่อเหล่าประชากรเห็นว่าโมเสสล่าช้าไม่กลับลงมาจากภูเขา จึงพากันไปหาอาโรนและกล่าวว่า “มาเถิด ช่วยสร้างเทพเจ้าขึ้นมานำพวกเราไป เพราะเราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับโมเสสผู้ที่นำพวกเราออกมาจากอียิปต์”"(อพยพ 32:1) แทนที่จะยอมรับถึงความกลัวที่มีอยู่แล้วหันไปเลือกที่จะไว้วางใจโมเสสและพระเจ้า ชาวอิสราเอลเลือกที่จะโทษโมเสสเพื่อเป็นข้ออ้างที่จะกลับไปสู่ตัวตนเก่าที่เป็นทาสต่อเทพเจ้า 

"ซามูเอลถามว่า “ท่านทำอะไรลงไป?”  ซาอูลตอบว่า “ข้าพเจ้าเห็นไพร่พลกระจัดกระจายไป และท่านไม่ได้มาตามเวลาที่กำหนดไว้ ฝ่ายชาวฟีลิสเตียก็มาชุมนุมกันอยู่ที่มิคมาช ข้าพเจ้าคิดว่า ‘ชาวฟีลิสเตียจะลงมาถล่มเราที่กิลกาลแล้ว เราเองก็ยังไม่ได้ขอความช่วยเหลือจาก องค์พระผู้เป็นเจ้า เลย’ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงจำต้องถวายเครื่องเผาบูชา”"(1ซามูเอล 13:11-12) กรณีนี้ซาอูลได้ละทิ้งตัวตนใหม่ของความเป็นกษัตริย์มาเป็นทาสของความกลัวโดยการโทษสถานการณ์ว่า 'ฝ่ายชาวฟีลิสเตียก็มาชุมนุมกันอยู่ที่มิคมาช' และโทษคนอื่นๆ เช่น โทษไพร่พล 'ข้าพเจ้าเห็นไพร่พลกระจัดกระจายไป' โทษซามูเอล
ด้วยว่า 'และท่านไม่ได้มาตามเวลาที่กำหนดไว้' สุดท้ายซาอูลก็อ้างสิ่งต่างๆนี้มาเป็นเหตุผลให้ความชอบธรรมกับการเลือกของตัวเอง 'ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงจำต้อง...' 

หรือ แม้สาวกของพระเยซูในพระคัมภีร์ใหม่ก็ไม่พ้นที่พร้อมจะหาคนโทษ หลังจากที่พระเยซูฟื้นขึ้นจากความตาย พระเยซูได้เชิญชวนเปโตรเดินตามพระองค์ “จงตามเรามาเถิด!”(ยอห์น21:19) ด้วยการ '...เลี้ยงแกะของเรา...' และถามเปโตรสามครั้งว่า“ท่านรักเราหรือ?” แต่สุดท้ายเปโตรก็พร้อมที่จะหาคนโทษเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบใหม่ที่พระเยซูยื่นให้ "เปโตรหันมาเห็นสาวกที่พระเยซูทรงรักกำลังตามมา (นี่เป็นสาวกคนเดียวกับที่เอนกายพิงพระเยซูในระหว่างอาหารค่ำมื้อนั้นและทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า ใครคือผู้ที่จะทรยศพระองค์?”) เมื่อเปโตรเห็นเขาก็ทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า แล้วคนนี้เล่า?”"(ยอห์น 21:20-21) คำตอบของพระเยซูน่าสนใจมาก "พระเยซูตรัสตอบว่า “ถ้าเราต้องการให้เขามีชีวิตอยู่จนเรากลับมา จะเกี่ยวอะไรกับท่าน? ท่านต้องตามเรามา”"(ยอห์น 21:22) ดูเหมือนเปโตรพร้อมที่จะหาคนอื่นมาเป็นข้ออ้างที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อนหน้านี้เขาได้เลือกไว้  แต่คำตอบของพระเยซูที่มาในรูปคำถามเหมือนบอกว่าเราต้องเลือกเองและรับผิดชอบต่อการเลือกของเราเองด้วย

สิทธิ์ในการเลือกเป็นของเราทุกคน สิทธิ์นี้หมายถึงเสรีภาพในการได้เลือก การโทษสิ่งใดทำให้การเลือกของเราถูกกำหนดโดยสิ่งนั้นที่ไม่ใช่ตัวเรา การโทษเป็นการผูกมัดตัวเอง และเป็นการโยนสิทธิ์ในการเลือกออกไปยังสิ่งที่เราโทษ ซึ่งอาจนำเรากลับไปสู่ความเป็นทาสต่อสิ่งที่อยู่เบื้องหลังที่เป็นแรงขับเคลื่อน คือความกลัว ความอาย และความเจ็บ

ตัวตนจริงของเราจะถูกก่อตัวขึ้นมาและเติบโตขึ้นผ่านเสรีภาพในการเลือกของเรา เพราะเราต่างเลือกอยู่บนสิ่งที่เราให้คุณค่า และเลือกตามที่เรามองว่าตัวเองเป็นใคร เราคือใครจะเป็นตัวกำหนดว่าเรามีสิทธิอำนาจอะไร มีสิทธิพิเศษอะไร และมีภารกิจอะไรที่มาพร้อมกับสิทธิ์ทั้งหลายเหล่านั้น

สิทธิ์ในการเลือกเป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ได้มาจากการถูกสร้างตามพระฉาย ซึ่งก็หมายถึงว่าสิทธิ์นี้เป็นของพระเจ้า และพร้อมด้วยสิทธิ์นี้มนุษย์ใด้ถูกมอบหมายให้ไปครอบครองสรรพสิ่งบนโลกนี้ที่พระเจ้าใด้สร้างขึ้น “...’ให้เราสร้างมนุษย์ขึ้นตามแบบเรา ตามอย่างเราเพื่อให้เขาครอบครอง...’” (ปฐมกาล 1:26) การร่วมครอบครองกับพระองค์เป็นภารกิจพิเศษที่มีให้แต่กับมนุษย์ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่พระเจ้ามุ่งมั่นที่จะนำกลับคืนมาผ่านพระเยซูหลังการล้มลงของอาดัม (โรม 5:17; วิวรณ์ 20:6)

นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพระเจ้าแล้ว สิทธิ์ในการเลือกยังเป็นหลักฐานถึงความรักที่พระเจ้าให้กับมนุษย์ เป็นความรักที่ให้เสรีภาพแบบไม่มีเงื่อนไข พระเจ้าเป็นความรัก รักแท้ให้เสรีภาพในการเลือก เป็นเสรีภาพที่อยู่บนพื้นฐานของความรักไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว และเป็นเสรีภาพที่สามารถรับความรักและให้ความรักออกไป แม้มนุษย์เคยล้มลงอยู่ในความตาย แต่โดยพระเยซูและสิ่งที่พระเยซูได้ทำสำเร็จแล้วบนกางเขนและอุโมงค์ที่ว่างเปล่านั้น ทำให้ผู้เชื่อทั้งหลายในพระคริสต์ได้มีชีวิตใหม่ที่มีความรัก ทำให้เราสามารถเลือกที่จะรับความรัก และให้ความรักออกไปได้เสมอ 


สิทธิ์ในการเลือกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีค่ามากๆที่พระเจ้าได้มอบให้ อย่าเอาไปแลกหรือมอบให้สิ่งใดหรือผู้ใดง่ายๆ แม้เราจะกลัว อาย หรือเจ็บแค่ไหน ให้เราเลือกที่จะเชื่อว่าความรักของพระเยซูที่อยู่ในเรากับพระกายนั้นได้ถูกพิสูจน์ผ่านไม้กางเขนและอุโมงค์ว่างเปล่าแล้วว่าความรักนี้มีพลังยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะขจัดความกลัว ล้างความอาย เยียวยาความเจ็บของเราได้ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้ดับความรักที่มีอยู่ในเรา แต่ให้เราใช้สิทธิ์เลือกที่จะเป็นตัวของเราในพระคริสต์ที่มีฐานะเป็นลูกของพระเจ้า ที่พระองค์ได้สร้างขึ้นมาด้วยความรักเพื่อร่วมครอบครองกับพระองค์ และเลือกที่จะรักเสมอ เพราะพระเจ้าเป็นความรัก และพระคริสติ์อยู่ในเรา 



ไม่มีความคิดเห็น: