19 สิงหาคม 2557

: พี่ชายคนโต


วันนี้ได้อ่านอุปมาบุตรน้อยหลงหายอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ใส่ใจดูแต่เรื่องของพี่ชายคนโต ก็ได้พบบางอย่างที่น่าสนใจมาก ...

พอเขารู้ว่าพ่อฆ่าโคที่ขุนไว้มาเฉลิมฉลองให้น้องชาย พี่ชายก็โกรธมากถึงขั้นไม่ยอมเข้าบ้านไปร่วมงาน คุณพ่อก็ยอมออกมาคุยและอธิบายให้ฟัง ลูกคนโตพูดอย่างชัดเจนว่าเขาโกรธเพราะที่ผ่านมาเขาได้ทำอย่างทาส และ เชื่อฟังพ่อ มาตลอด แต่พ่อไม่เคยล้มวัวมาให้เขาเฉลิมฉลองกับเพื่อนเลย สำหรับลูกคนนี้เขาเข้าใจว่าเขาต้องทำและเชื่อฟังก่อนที่เขาจะได้อะไรจากพ่อ เขามองพ่อเป็นแหล่งทรัพย์ที่จะให้และตอบสนองเขา ซึ่งไม่แตกต่างอะไรจากน้องชายเลย มีเพียงแต่วิธีเรียกร้องเท่านั้นที่ต่างกัน
ลูกคนนี้มองการทำงานให้พ่อและการเชื่อฟังว่าเป็นสิ่งที่พ่อต้องการและเรียกร้องให้เขาทำ เขามองว่านั่นเป็นสัญญลักษณ์ของลูกที่ดีที่ควรจะเป็น เป็นการนำไปสู่การยอมรับและการชื่นชมจากพ่อผ่านรางวัลที่จะได้ สำหรับเขาการเฉลิมฉลองจึงเท่ากับเป็นการเฉลิมฉลองผลงานที่เขาได้ทำมา ลูกคนนี้เลยมีแต่ความโกรธกับงานฉลองที่จัดให้น้อง เพราะน้องไม่ได้ทำอะไรที่สมควรและก็ไม่เชื่อฟังจนถึงขั้นเอาแต่ใจตัวเอง ส่วนเขาเองที่ผ่านมามีแต่ตั้งใจทำงานและทำอย่างทาส แต่ไม่เคยมีงานฉลองให้กับตัวเขา งานฉลองของน้องกำลังบอกว่าพ่อไม่เห็นคุณค่ากับสิ่งที่เขาได้ทำไป จึงโกรธพ่อ

คำพูดของพ่อน่าสนใจมาก สิ่งแรกที่พ่อพูดคือการยืนยันว่าพ่ออยู่กับลูกเสมอ นั่นหมายความว่าลูกคนโตนี้ไม่รู้หรือไม่แน่ใจในสิ่งนี้เลยหรือแม้เขาอยู่ในบ้านกับพ่อมาตลอด ขยันทำงานและตั้งใจเชื่อฟังพ่อเสมอ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกที่อยู่บนพื้นฐานของการกระทำและการเชื่อฟังเป็นหลักเพื่อให้ได้การยอมรับและได้คุณค่านั้น จะไม่มีความสนิทสนม ลูกจะรู้สึกว่าเขายังทำไม่พอหรือยังเชื่อฟังไม่พอ น่าจะทำมากกว่าเดิมหรือเชื่อฟังมากกว่าเดิม เขาเข้าใจผิดว่าการยอมสูญเสียทุกอย่างถึงขั้นเป็นทาสนั้นเป็นสิ่งดีเลิศ จนมาถึงวันหนึ่งเขาก็ลืมไปว่าความเป็นลูกเป็นอย่างไร แต่ความเข้าใจทั้งหมดนี้กำลังผลักเราห่างออกไปจากพ่อ (กาลาเทีย 5:4)
สิ่งที่สองที่พ่อพูดคือทุกอย่างที่เป็นของพ่อก็เป็นของลูก ท่าทีและความเข้าใจของลูกคนโตต่อพ่อแบบนี้ทำให้เขาลืมสิทธิ์ของความเป็นลูก เพราะในความเข้าใจของเขานั้นทุกอย่างได้มาจากการกระทำและการเชื่อฟัง ลืมไปเลยว่าความเป็นลูกที่แท้จริงไม่ได้มาด้วยการทำงานแลกเปลี่ยนหรือจากการเชื่อฟัง เมื่อเราเริ่มใช้ชีวิตอย่างทาสแทนที่จะเป็นลูก เราก็หลงจากพ่อและห่างจากความเป็นลูก
ดูแล้วคนโตก็หลงหายเหมือนกัน แต่ถ้าจะเลือกว่าใครอาการหนักกว่ากันระหว่างสองพี่น้องนี้ ... คงต้องเป็นตัวพี่เพราะเขายังมีแรงที่พึ่งพาตัวเองต่อได้ ยังอวดผลงานของตัวเองได้ ในขณะที่ตัวน้องนั้นแทบจะไม่เหลืออะไรที่จะพึ่งตัวเองได้เลย สภาพของน้องได้ช่วยพาเขากลับมาหาพ่อและกลับมาเป็นลูกอีกครั้ง

2 มิถุนายน 2557

: คนที่ถูกรัก



เราจะถูกสอนเสมอว่าให้รักคนอื่น ให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
แม้การใช้ของประทานพระคัมภีร์ก็ให้เราอยู่บนเส้นทางแห่งความรัก แล้วสิ่งสำคัญที่สุดก็คือให้เรารักพระเจ้า ไม่ใช่รักธรรมดาด้วย ให้รักด้วยสุดจิตสุดใจสุดกำลัง การให้ความรักกับคนหรือให้กับพระเจ้านั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย บางเวลาเหมือนกับต้องตายต่อตัวเอง และบางครั้งดูเหมือนยิ่งยากขึ้นโดยเฉพาะเวลาที่เราเจอคนที่ไม่น่ารัก แต่ในหลายๆครั้งเราก็เห็นหรือได้ยินถึงผลกระทบของความรักที่ให้ออกไปสามารถเปลี่ยนคนคนหนึ่งหรือสถานการณ์หนึ่งได้ รักที่ให้ออกไปนั้นเป็นการปล่อยพลังมหาศาล คำถามคืออะไรที่ทำให้คนๆหนึ่งสามารถให้ความรักออกไปได้  อะไรที่สามารถให้คนหยุดคิดถึงตัวเอง พูดคำที่ไม่เคยพูด ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ไปที่ที่ไม่เคยไป รู้สึกถึงความเจ็บปวดของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตัวเอง พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์อันตราย ทั้งหมดเพื่อเขาจะได้เอาความรักไปถึงคนอื่น อะไรที่อยู่เบื้องหลัง อะไรที่ทำให้คนเป็นอย่างนี้ได้ อะไรทำให้คนหนึ่งให้ความรักออกไปได้

บางครั้งเราลืมเหตุผลง่ายๆที่ว่าถ้าเราจะให้อะไรออกไปเรามีแต่ให้สิ่งที่เรามี เราไม่สามารถให้สิ่งที่เราไม่มีออกไปได้ พระคัมภีร์บอกว่า"เรารักเพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน" คนเราไม่สามารถให้ความรักออกไปได้ถัาเขาไม่เคยรับความรักมาก่อน การได้รับความรักคือการถูกรัก การถูกรักทำให้คนนั้นรู้จักว่าความรักคืออะไร มีรูบแบบอย่างไรและมีพลังมากแค่ไหน พอพูดถึงความรักก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยเป็นหญิงชั่ว หญิงนี้มางานเลี้ยงแม้ไม่ได้ถูกเชิญ แต่เธอเลือกที่จะมา เพื่อมาให้ความรักกับพระเยซูท่ามกลางสายตาที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม ท่ามกลางบรรยากาศที่อันตรายในหมู่ผู้ชายที่มีฐานะและอำนาจ กลุ่มคนที่ไม่ใช่แค่ตัดสินเธออย่างเดียวแต่พร้อมที่จะพิพากษาและลงโทษเธอได้เสมอ อะไรทำให้เธอเดินผ่านสภาวะอย่างนี้ไปได้ อะไรทำให้เธอมั่นใจว่าพระเยซูจะต้อนรับเธอในขณะคนอื่นรังเกียจเธอ อะไรทำให้เธอเดินข้ามความกลัวและความอายของเธอ ยิ่งไปกว่านั้นเสรีภาพที่เธอมีในการแสดงความรักให้กับพระเยซูนั้น มันช่างสวยงาม ทำให้เราเห็นถึงหัวใจของการนมัสการที่มีพระเยซูเป็นศูนย์กลาง ที่เราไม่สนตัวเอง ที่เราให้ทุกอย่างออกไปและให้อย่างฟุ่มเฟือย อะไรทำให้เธอเป็นอย่างนี้ได้ 
ไม่ใช่แค่ทำ แต่เป็น 

ในพระคัมภีร์บอกว่ามีสิ่งหนึ่งที่สามารถกำจัดความกลัวได้ สิ่งนั้นก็คือความรักที่สมบูรณ์ ใน 1ยอห์น4:8 บอกว่าในความรักนั้นไม่มีความกลัว ซึ่งเราเห็นชัดมากจากที่พระเยซูอธิบายว่าหญิงนี้รักมากเพราะเธอได้รับการอภัยมาก การให้อภัยคือส่วนหนึ่งของความรัก ดูใน1เปโตร4:8 "ความรักลบความผิดบาปโดยการให้อภัย" เพราะฉะนั้นพลังที่ขับเคลื่อนหญิงนั้นคือการถูกรักจากพระเยซู 

   เมื่อคนหนึ่งถูกรัก 
   ความรักจะทำให้คนนั้นรู้สึกมีคุณค่า 
   อิ่มและไม่ขัดสน ...

และเมื่อคนนั้นได้สัมผัสว่ามีใครอีกคนหนึ่งต้องการความรักเหมือนในอดีตที่เขาเคยแสวงหา เวลานั้นเองที่คนนี้ก็จะสามารถให้ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขออกไปเพราะเขาให้จากสิ่งที่เขามี ซึ่งแตกต่างจากการให้ความรักเพื่อหวังจะได้ความรักหรือผลประโยชน์กลับคืนมา


การถูกรักนั้นเป็นแหล่งกำเนิดพลังอันมหาศาล เราที่เป็นคริสตจักรบางครั้งคงต้องคิดใหม่ คือแทนที่จะจดจ่อผลักดันตัวเองและคนอื่นๆไปรักพระเจ้าซึ่งหลายครั้งก็ทำให้รู้สึงฟ้องผิดและไม่ดีพอ แต่ให้เราเป็นกำลังใจต่อกันและกันในความรักที่พระเจ้าได้ให้กับเราผ่านการตายและการเป็นขึ้น ให้เราอธิษฐานที่ไม้กางเขนจะเป็นความจริงมากขึ้นในชีวิตของเรา และให้เราสอนเทศนาหรือแบ่งปันเรื่องไม้กางเขนและการเป็นขึ้น เพื่อที่เราจะรู้เสมอว่าเราถูกรักแล้ว และให้ความรักนั้นทำงานในเรา และสุดท้ายเพื่อเราจะปลดปล่อยพลังมหาศาลออกไปโดยการให้ความรักแก่คนอื่นและพระเจ้า

การตายของพระเยซูบนไม้กางเขนได้บอกว่าเราทุกคนถูกรักอย่างตลอดกาล เหตุฉะนั้นให้เราใช้ชีวิตที่พร้อมจะให้ความรักหรือพลังมหาศาลนี้ออกไปจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก


3 พฤษภาคม 2557

: การมีชีวิตคือพระคริสต์


วันนี้ขอเขียนเรื่องพระคัมภีร์ฟิลิปปี 1:21 พูดตรงๆ ผมก็ท่องพระคัมภีร์ข้อนี้มาตั้งแต่เชื่อพระเจ้าเมื่อนานมาแล้ว ภาษาไทยที่ใช้คำแปลว่า "เพราะสำหรับข้าพเจ้า การมีชีวิตอยู่ก็เพื่อพระคริสต์ และการตายก็ได้กำไร" เมื่อก่อนผมก็นำไปใช้แบบคำต่อคำครับ และผู้นำคริสตจักรส่วนมากก็นำมาสอนแบบแปลตามตัว ประมานว่าพระเจ้าเป็นจอมกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และเราเป็นคนรับใช้ (บางคนอาจใช้คำว่าทาส หรือผู้รับใช้) ซึ่งใจความหลักที่เขาสอนๆกัน คือเราต้องเสียสละนู่นนี่นั่นส่วนตัว ต้องทุบตีเนื้อหนัง คุมตัวเองสุดๆ เพื่อเป็นการปรนนิบัติพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ผมก็ทำตามนั้นมาได้เกือบ 20 ปีครับ ถามว่ามองย้อนกลับไปเป็นไงบ้าง จะอธิบายอยู่นี่ไง

ตอนนี้มุมมองเรื่องพระเจ้าที่เป็นพ่อที่รัก และความเข้าใจในพระคัมภีร์ข้อนี้ของผมเปลี่ยนไปเยอะมากครับ บอกตรงๆเลยครับว่าที่ผ่านมามันยากมากในการดำเนินชึวิตแบบคนรับใช้ของพระเยซู คำถามคือพระเยซูมาตายบนไม้กางเขนให้ผมกลายเป็นคนงานที่ทำงานหนักให้พระเจ้างั้นหรือ ฟังแล้วแปลกๆนะ ที่ถูกต้องเป็นพระเยซูมาตายเพื่อให้เราคืนดีกับพระเจ้าและกลายเป็นลูกก็ไม่ใช่หรือครับ

คืออย่างนี้ครับ ผมจะบอกเลยครับว่ามุมมอง ที่หลายคนที่นี่พบคือว่าภาษาไทยเขียนผิด เชื่อไม่เชื่อเห็นด้วยไม่เห็นด้วยมาดูกัน ไม่ว่ากัน ออกตัวนิดหนึ่งว่าเคยเรียนภาษากรีกและฮีบรูมาแต่ก็นานมากแล้ว ลืมแล้วด้วย แต่ลองดูที่ผมหามาจากพจนานุกรมกรีกโบราณที่เขาเรียกกันว่า Greek Lexicon


ในการแปลภาษาโบราณผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องเปรียบเทียบรูปประโยคที่คล้ายกันกับเอกสารโบราณอื่นๆที่เขียนในยุคเดียวกันเพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้องที่สุด เพราะภาษาโบราณมีโครงสร้างไม่เหมือนภาษาที่ใช้ในปัจจุบัน และไม่มีใครที่รู้มีชีวิตอยู่มาอธิบาย ดังนั้นการแปลจึงต้องตรวจเช็คและเปรียบเทียบกับเอกสารอื่นๆที่ใช้รูปประโยคเดียวกัน

จากการแปลตามตัวของภาษากรีกโบราณจะได้ว่า "การมีชีวิตอยู่พระคริสต์ และการตายกำไร" เป็นประโยคที่คนปัจจุบันอ่านไม่เข้าใจเพราะดูเหมือนกริยาหลักหายไป สิ่งต่อมาที่ผู้เชียวชาญเขาทำกันเพื่อจะเข้าใจความหมายของประโยคนี้คือ นำประโยคนี้ไปเปรียบเทียบกับเอกสารภาษากรีกอื่นๆที่เขึยนในสมัยเดียวกันว่าความหมายใดถูกต้องที่สุด ผลลัพท์ที่ได้กันมาคือ "การมีชีวิตอยู่(คือ)พระคริสต์ และการตาย(คือ)กำไร"

ก็ได้ข้อสรุปเป็นตามที่ภาษาอังกฤษแปลไว้เลยครับ ใครเก่งกรีกจะว่าเป็นอย่างอื่นก็ตามใจครับ ผมตามที่เขาแปลกันมาแล้วและกำลังจะบอกว่าคำแปลภาษาไทยมีปัญหาครับ ทำให้มุมมองเรื่องพระเจ้ากับเราเปลี่ยนจากลูกเป็นทาสครับ

เอากันตรงๆนะครับพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษ "For to me, to live is Christ and to die is gain แปลว่า สำหรับฉันการมีชีวิตอยู่คือพระคริสต์ และการตายคือกำไร" ภาษาจีนข้อเดียวกัน "因我活着就是基督,我死了就有益处 แปลว่า เพราะว่าฉันมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสต์ ฉันตายไปแล้วก็ได้กำไร" เห็นด้วยกับผมไหมครับว่าภาษาไทยแปลไม่เข้าพวก จีนกับอังกฤษเขาแปลหลักๆว่า "ฉันมีชีวิตอยู่คือพระคริสต์" ไม่ใช่ "ฉันมีชีวิตอยู่เพื่อพระคริส" ใจความแรกคือเรากลายเป็นเหมือนพระคริสต์เลย ใจความที่สองคือเรากับพระคริสต์เป็นคนละคนกันเราและต้องพยายามเพื่อพระเจ้า ต่างกันมากนะครับ ผมดำเนินชีวิตแบบที่สองมานานมันลำบากมากครับ แต่ถ้าพระคริสต์อยู่ในเราและเรากลายเป็นเหมือนพระคริสต์ในเรา การดำเนินชีวิตมันไม่ต้องพยายามครับ แค่เอาพระคริสต์ออกมา

โคโลสี 2: 9-10 “เพราะในพระคริสตืพระลักษณะทั้งสิ้นของพระเจ้าดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์ในพระกายของพระองค์ และท่านได้รับความบริบูรณ์ในพระคริสต์ผู้ทรงเป็นศรีษะ...” แปลว่าอะไรครับ แปลว่าพระคริสต์อยู่ในเราแล้วและพระลักษณะของพระเยซูที่เป็นพระเจ้าก็อยู่ในเราแล้ว โคโลสี 3 บอกว่าพระคริสต์อยู่ในเราและตัวเก่าของเราตายแล้ว

ถ้าให้ผมอ่านใหม่ฟิลิปปี 1:21 ก็จะขอแปลดื่อๆว่า “สำหรับข้าพเจ้าการมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสต์ การตายก็ได้กำไรไม่ว่าแต่ละวันเราอยู่ในสภาพไหนพระคริสต์ที่อยู่ในเราจะเป็นคนเปลี่ยนเราจากข้างใน ไม่ต้องพยายามด้วยตัวเอง

พูดถึงตรงนี้คนไทยชอบถามว่าต้องทำอย่างไรต่อ ผมก็เคยถาม ตอบสั้นๆว่า “เชื่อว่าพระคริสต์อยู่ในเรา” สิครับ การดำเนินชีวิตของเราก็เอาพระเยซูข้างในออกมา

ก็ขออวยพรทุกท่านที่จะรู้และเชื่อครับว่าพระคริสต์อยู่ในเรา ลักษณะของพระองค์บริบูรณ์ในเราแล้ว นี่คือข่าวประเสริฐที่เปาโลกล่าวถึง ชีวิตเราแค่เชื่อและดำเนินชีวิตให้พระคริสต์ออกมา

5 เมษายน 2557

: "สะบาโต" ตำนานในอดีต





ก็นึกอยากจะเขียนเกี่ยวกับคำนี้แหละนะ คนที่เชื่อพระเจ้าได้ระยะหนึ่งก็จะได้ยินโบสถ์อื่นๆเรียกวันอาทิตย์เป็น "วันสะบาโต" เป็นวันที่นู่นนี่นั่น  มันคืออะไรกันแน่ หลายคนยังไม่รู้ดิว่ามันคืออะไร เป็นวันพิเศษหรือ อ้าวไหนบอกว่าพอพระเยซูมาทุกวันพิเศษเหมือนกัน ขอพูดความคิดของตัวเองนิดนึงนะ เพราะพบว่าบางคนทำหน้างงๆในเรื่องนี้ บางคนไม่กล้าระบุว่ามันเกี่ยวกับแผ่นดินพระเจ้ายังไง เห็นหลายคนเขานับถือกันก็ไม่อยากแตกต่างซะงั้น เอางี้ ตรงๆ เขียนเว็บไม่เก่ง จัดตัวหนังสือไม่เเป็น ไม่ว่ากันนะเอาที่เนื้อหาละกัน จะพูดสิ่งที่เข้าใจแบบตรงๆ

1. "สะบาโต" แปลว่า"พัก" เริ่มต้นด้วย ปฐมกาล 2:2 พระเจ้าสร้างโลกเสร็จใน 6 วันและวันที่ 7 เริ่มต้นการพักผ่อนและดำเนิน จนกระทั่งอาดัมและเอวาล้มลงในบาป ต้องถูกขับออกจากสวนเอเดน (ต้องออกมาทำงานซะงั้น) พระเจ้าสัญญาว่าจะนำเขากลับมา (สู่การพัก


2. ชนชาติอิสราเอลรู้ตัวว่ามนุษย์หลุดจากการครอบครองของพระเจ้า และมีคำพยากรณ์มากมายที่พระเจ้าบอกว่าคนอิสราเอลจะกลับเข้าสู่ดินแดนพระเจ้าอีกครั้ง หรือเข้าสู่การพักอีกครั้ง ต่อมาคนอิสราเอลตกเป็นทาสในอียิป 400 ปีและพระเจ้านำเขาออกมาจากอียิป ก็ช่วงนี้แหละครับที่โมเสสประกาศให้มีวันที่เรียกว่า"วันสะบาโต" ให้หยุดการทำงานเป็นวันพักผ่อนที่มาจากพระเจ้า ต่อมาโยชูวานำกองทัพไร้พ่ายตะลุยเข้าสู่คานาอัน ยึดดินแดนแห่งพระสัญญา และเริ่มต้นการปกครอง


3. คนอิสราเอลสมัยโยชูวาเข้าใจว่า การที่กองทัพโยชูวาเข้าครอบครองคานาอันได้สำเร็จเป็นการที่อิสราเอลกลับสู่แผ่นดินพระเจ้าแล้ว แต่ ฮีบรู 4:8-9 "เพราะถ้าโยชูวาได้ให้เขาเข้าสู่การพักสงบ พระเจ้าก็คงไม่ต้องตรัสถึงอีกวันหนึ่งในภายหลัง สะบาโตแห่งการพักสงบสำหรับประชากรณ์ของพระเจ้าจึงบังคงอยู่ " ชัดปะ ระบุชัดว่าเรื่องการเข้าสู่การพักของโยชูวาไม่ใช่ของแท้แต่สะท้อนถึงวันที่จะมาภายหลังซึ่งคือพระเยซู(โยชูวาเป็นภาพของพระเยซู) เป็นวันที่ผู้เชื่อทุกคนจะได้พัก


4. มาดูจุดหมายที่ตอนนั้นพระเจ้าให้มีสะบาโตนะ เอเสเคียล 20:12 บอกว่า"เราได้มอบวันสะบาโตแก่พวกเขา เป็นหมายสำคัญระหว่างเราทั้งสองผ่าย เพื่อพวกเขาจะได้รู้ว่าเราผู้เป็นพระยาเวย์ได้ทำให้พวกเขาบริสุทธิ์" ชัดไหมครับว่าวันสะบาโตในพระคัมภีร์เดิมเล็งไปถึงหรือเป็นเครื่องมือให้อิสราเอลระลึกกว่าพระเจ้าทำให้เขาบริสุทธ์ และจริงๆเล็งถึงอนาคตด้วยว่าพระเยซูทำให้มนุษย์บริสุทธิ์


5. ข่าวดีมันอยู่ตรงนี้ครับ โคโลสี 2:16-17 "เพราะฉะนั้นอย่าให้ใครมาตัดสินท่านจากสิ่งที่ท่านกิน หรือดื่มหรือเกี่ยวกับเทศกาลทางศาสนา ไม่ว่าวันฉลองขึ้นหนึ่งค่ำหรือวันสะบาโต สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของสิ่งที่จะมาภายหลัง ส่วนความจริงแท้พบอยู่ในพระคริสต์" คืองี้ครับ ชัดๆนะ วันสะบาโตเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าสร้างขึ้นเพื่อคนอิสราเอลจะได้รู้ว่าพระเจ้าจะเป็นผู้ทำให้เขาบริสุทธิ์ (หมายถึงการมาของพระเยซู) กฎเกณท์เรื่องวันสะบาโตถูกออกแบบเพื่อเตรียมรับการมาของพระเยซู ทันทีที่พระเยซูลงมาเกิด เครื่องมือนี้ที่เรียกว่าวันสะบาโตเสร็จสิ้นภาระกิจของมันทันทีและถูกปลดประจำการ ก็สามารถบอกได้ว่ายกเลิกและไม่ต้องทำต่อไป เพราะสะบาโตในอดีตเป็นเงาสะท้อนถึงการมาของพระเยซู ซึ่งคือการพักที่แท้จริง พระเจ้าผู้ตายเพื่อให้เราบริสุทธิ์ และการมาของพระเยซูทำให้วันสะบาโตสิ้นสุดภาระกิจของมัน


6. ข่าวดีที่สองครับ พระเยซูที่ "สะบาโตในอดีต" เล็งถึงได้ลงมาแล้วเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ฮีบรู 12: 18-29 บอกว่าเราได้มาถึงนครของพระเจ้าแล้ว และกำลังรับอาณาจักรที่ไม่สั่นคลอน การพักผ่อนได้เริ่มขึ้นแล้ว แผ่นดินพระเจ้าได้เข้ามาแล้ว สะบาโตตัวแม่คือแผ่นดินพระเจ้าได้มาแล้ว ปีแห่งการเฉลิมฉลองเริ่มแล้ว คนที่เหนื่อยเข้ามาแล้วจะหายเหนื่อย กฎเกณท์เรื่องสะบาโตในอดีตถูกยกเลิก ทุกวันกลายเป็นวันของพระเจ้า หรือพูดง่ายๆว่ายุคสะบาโตเริ่มแล้ว จนกว่าพระเยซูจะกลับมาเราทุกคนจะเข้าสู่การพัก กลับสู่สถาพเดิมที่เราร่วงหล่นมา พระเจ้าเป็นผู้ทำให้เราบริสุทธ์


ตำนานวันพิเศษกลายเป็นอดีตและจบลงที่พระเยซูและเราอยู่ในยุคที่ตำนานพิเศษนี้เล็งถึง

จบดื้อๆไปล่ะ

12 มีนาคม 2557

: ใครคือเพื่อนบ้าน



ครั้งหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านบัญญัตท่านหนึ่งได้ถามพระเยซูว่าเขาต้องทำอะไรเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์พระเยซูถามกลับว่าบัญญัติได้เขียนไว้ว่าอย่างไรและอ่านได้ว่าอย่างไร เขาตอบว่า"จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านอย่างสุดใจ สุดจิต สุดกำลัง และสุดความคิดของท่าน และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง" พระเยซูบอกว่า "ท่านตอบถูกแล้ว จงไปทำเช่นนั้น แล้วท่านจะได้ชีวิต"




ในลก.10:29  ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญญัติได้ถามพระเยซูว่า "ใครคือเพื่อนบ้านของผม" เพื่อตอบคำถามนี้ พระเยซูเล่าเรื่องอุปมาในลก.10:30-35 แทนที่พระเยซูจะถามว่าในสามคนนี้ ใครมองผู้ชายที่ถูกปล้นเป็นเพื่อนบ้าน แต่พระเยซูกลับถามว่า "ท่านคิดว่าในสามคนนี้ คนไหนคือเพื่อนบ้านของชายที่ถูกโจรปล้น ?" ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญญัติตอบว่า "คนที่เมตตาเขา"แล้วพระเยซูก็บอกเขาว่า"จงไปทำเช่นนั้น"

คำว่า 'เพื่อนบ้าน'ในที่นี้คือคนที่ให้เมตตากับอีกคนหนึ่งที่มีความต้องการหรือตกอยู่ในสภาวะที่แย่และดูเหมือนช่วยตัวเองไม่ได้ ความเป็นเพื่อนบ้านไม่ได้ถูกจำกัดโดยพื้นที่ ความสัมพันธ์ เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เวลา ฯลฯ แค่ได้เจอกันหรือรับรู้ว่ามีคนคนนึงกำลังตกยากลำบาก เราก็กลายเป็นเพื่อนบ้านของเขาทันที การให้เมตตาก็ไม่มีขอบเขตเลย ขอบเขตเดืยวที่เห็นก็คือดูแลและมีใจให้อีกฝ่ายหนึ่งอย่างกับเราเป็นเขา

อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรครับ บางคนคงรู้สึกดี .. บางคนอาจรู้สึกเป็นกำลังใจ.. บางคนอ่านแล้วก็อาจรู้สึกถึงความท้าท้ายที่จะมุ่งมั่นเริ่มทำ.. แต่ผมขอให้คุณหยุดคิดหน่อยก่อนที่จะทุ่มกำลังไปทำ 


ให้สังเกตุว่าผู้เชี่ยวชาญด้านบัญญัตินี้เขาเริ่มจากการมองหาว่าเขา "ต้องทำอะไร ? "..เพื่อ ได้ชีวิตนิรันดร์จากคำถามของเขาเราสามารถเข้าใจว่ากรอบความคิดและความเข้าใจของเขาที่ใครคนนึงจะเข้าแผ่นดินพระเจ้านั้นมีอยู่ทางเดียวคือทางบัญญัติ เขาจึงเน้นการ"ทำ"ของตนเอง การสอนของพระเยซูนี้ พระเยซูได้ยกมาตรฐานของบัญญัติขึ้นเหมือนตอนอื่นๆเช่น ให้รักศัตรูแทนที่จะฟันต่อฟันตาต่อตา และให้ควักลูกนัยน์ตาออกถ้าเรามองคนด้วยจิตใจไม่ดี หรือให้เราตัดอวัยวะใดๆทิ้งถ้าอวัยวะนั้นทำบาบ ฯลฯ มาตรฐานใหม่นี้คือเมตตาจากพระเจ้าให้กับผู้ที่วางใจในการกระทำชองตัวเองเพื่อเข้าไปในแผ่นดินพระเจ้า พระเยซูใช้มาตรฐานนี้ผลักพวกเขาไปถึงความจริงที่ว่าไม่มีใครทำตามบัญญัติอย่างสมบูรณ์ได้ ไม่มีใครได้ชีวิตนิรันดร์โดยการกระทำของตัวเอง ในที่สุดคือพระคุณเท่านั้น ก็คือเชื่อในพระเยซูซึ่งเป็นทางเดียวสู่แผ่นดินพระเจ้า และณ ที่นี้เองหน้าที่ของบัญญัติก็สำเร็จอย่างที่เขียนไว้ในกท.3:24 "ดังนั้นบทบัญญัติได้รับมอบหมายหน้าที่ให้นำเรามาถึงพระคริสต์เพื่อเราจะได้ถูกนับเป็นผู้ชอบธรรมโดยความเชื่อ"

เพราะฉะนั้นใครที่ก่อนหน้านี้กำลังคึกจะไป'รักเพื่อนบ้าน' ก็ขอเสนอให้รู้ว่าคุณไม่สามารถทำอย่างสมบูรณ์ได้ และอย่าคิดที่จะเอาการกระทำของตัวเองมาแลกกับพระเจ้า สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะทำคือยอมรับว่าที่แท้เราก็ไม่แตกต่างจากผู้ชายที่ถูกปล้นนั้น สภาพของเราสมควรตาย 


แต่พระเยซูรักเรามากจึงให้เมตตาและพระคุณกับเราโดยการเอาชีวิตของเราร่วมกับพระองค์ในความตายบนไม้กางเขน แล้วให้ชีวิตของพระองค์กับเราเมื่อทรงเป็นขึ้นจากความตาย เราจึงมีความหวังที่จะรักตัวเองได้และรักเพื่อนบ้านได้ เพราะพระคริสต์ในเรา และเพราะพระองค์รักเราก่อน ทั้งหมดคือพระคริสต์ทั้งสิ้น ไม่ใช่เราเลย



18 กุมภาพันธ์ 2557

: ถูกพ่อทิ้ง

เย็นวันหนึ่งได้มีเวลาพูดคุยกับลูกๆ พิมและพอล และเพื่อนๆของเขาที่โตมาด้วยกัน คุยไปคุยมาก็คุยถึงหัวข้อเรื่องพ่อ แรกๆก็พบว่ามีเด็กจำนวนนึงที่เรารู็จักและอาจจะใช้คำว่าพวกเขาไม่มีพ่ออยู่ด้วยกันในบ้าน แต่ขณะพูดคุยต่อ เราก็เปลี่ยนเป็นว่าพวกเขาถูกพ่อทิ้ง เพราะในเด็กหลายๆคนนั้น ตอนแรกๆพ่อก็ให้เหตุผลต่างๆเช่น พ่อต้องไปหาเงิน พ่อมีบัญหากับแม่หรือภรรยาเขา ปู่กับย่าต้องการพ่อให้ไปดูแล หรือ พ่อบางคนก็ไปโดยไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม พวกเราในวงสนทนานั้นใด้สังเกตว่า แทบจะไม่มีพ่อคนไหนเลยที่จะพยายามติดต่อเพื่อใช้เวลากับลูก


บางคนแปลกมาก แรกๆบอกว่าต้องไปหาเงินให้ลูก แต่ก็ไม่ได้ส่งเงินให้ลูก ก็อาจจะยังหาไม่ใด้ (สมัยก่อนมีแต่ได้ยินว่าพ่อยอม อดเพื่อลูกได้กิน สมัยนี้คงเปลี่ยนไป) แต่บางคนยังใช้ชีวิตอย่างสบาย ขนาดถ้าได้แบ่งบางส่วนมาให้ลูกบ้าง ลูกก็คงไม่ต้องอยู่อย่างลำบาก แต่ก็ไม่ได้แบ่ง เราจึงเปลี่ยนเป็น 'พ่อทิ้ง'

หากเรามารู้สึกหรือคิดแทนเด็กที่เป็นลูกว่า จริงๆแล้วเขาต้องการอะไรกันแน่ เด็กคนนึงไม่รู้หรอกว่ารวยหรือจนสำคัญแค่ไหนสำหรับเขา พ่อกับแม่มีปัญหากันก็คงยากที่ลูกจะเข้าใจว่าแล้วทำไมพ่อต้องหายไปจากเขาด้วย

การที่คนสำคัญมากๆคนนึงอยู่ดีๆหายไป จะมีใครมาเล่นกับลูกด้วยเหมือนพ่อ ใครจะเข้าใจเสียงหัวเราะของลูกเหมือนพ่อ ใครจะปลอบใจในเวลาลูกเจ็บได้ดีเท่าพ่อ ใครจะทำให้ความสุขของลูกเต็มอิ่มใด้เท่าพ่อ โดยเฉพาะในเวลาที่เขาอยากแป่งบันความสำเร็จ เช่น ก้าวแรกของเขา คำแรกของเขา การขึ้นชั้นเรียนใหม่ของเขา ใครจะให้ความภูมิใจกับลูกได้เท่าพ่อ ไม่มีใคร

การเป็นพ่อนั้นเป็นอะไรที่พิเศษมาก คนๆหนึ่งเมื่อใด้เป็นพ่อ ก็เหมือนกับเป็นตัวแทนของพระเจ้าให้กับชีวิตๆหนึ่ง สิ่งที่ลูกต้องการก็คือพ่อที่รักเขาและอยู่กับเขาเสมอ....

ขอให้กำลังใจกับเด็กๆหรือใครก็ตามที่ถูกพ่อทิ้งว่า มีข่าวดี คือ เพราะพระคริสต์ได้ตายบนกางเขนแล้วเป็นขึ้นมา เราทุกคนที่เชื่อก็เป็นลูก ส่วนคนที่เป็นพ่อ ขออวยพรที่คุณจะเข้าใจและมีประสบการณ์ที่ถูกรักจากพระเจ้าที่เป็นพ่อ และขอเป็นกำลังใจที่จะกล้ารักและแสดงออกกับลูกของคุณ

8 กุมภาพันธ์ 2557

: การติดสนิทกับพระเจ้า




ครั้งนี้อยากเขียนถึงสิ่งที่คริสเตียนได้พูดกันมากและมีหนังสือมากมายที่ได้เขียนถึงเรืองนี้ ซึ่งก็คือ"การติดสนิทกับพระเจ้า" จำได้ถึงตอนที่เชื่อพระเยซูใหม่ๆ ช่วงนั้นชีวิตมีความสุขมาก รู้สึกถึงความอิ่มจากภายใน ชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว อิ่มเสียจนใด้ไปบอกเลิกกับแฟนที่ไม่เป็นคริสเตียนและที่กำลังมีปัญหาในความสัมพันธ์ ไม่กลัวการสูญเสียเลย เวลานั้นบอกได้ว่ารู้สึกตัวเองถูกรักอย่างมากจากพระเจัาแม้ยังมองตัวเองไร้ค่าก็ตาม ความรักนี้ได้เรื่มเปลี่ยนชีวิตของผม เวลานั้นชอบโบสถ์มาก ชอบพี่น้องในโบสถ์ ชอบนมัสการ ชอบไปกลุ่มย่อย ชอบฟังและคุยเรื่องพระเจ้า โดยเฉพาะตอนดึกหลังเลิกงานเวลาเดินกลับบ้านคนเดียว เป็นช่วงเวลาที่พิเศษมาก เป็นเวลาที่ผมจะพูดคุยกับพระเจ้าพร้อมกับร้องเพลงนมัสการไปด้วย

พอเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็เริ่มได้ยินคำสอนจากหลายคนที่รู้จักพระเจ้ามานานกว่าเราและเราก็เชื่อมั่นในสิ่งที่เขาสอนด้วย คำสอนจากพวกเขาจะบอกให้คนที่เป็นผู้เชื่อนั้นต้องทำหลายกิจกรรมเช่นไปโบสถ์ อ่านพระคัมภีร์ ฯลฯ ทั้งหมดที่ให้ทำก็ "เพื่อที่เราจะติดสนิทกับพระเจ้า" พอฟังบ่อยๆเข้าก็คิดว่ามันคงยังมีอะไรที่ดีกว่าที่เราได้รับมา เลยเริ่มทำกิจกรรมเหล่านั้นด้วยท่าทีเพื่อหวังว่าจะไปถึง
"การสนิทกับพระเจ้า" ซึ่งแตกต่างจากตอนแรกที่ทำไปเพื่อตอบสนองความสุขที่ได้รับ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ใดๆเลย

พยายามทำและอยู่ในท่าทีความเข้าใจอย่างนั้นมาหลายปีเลย บางครั้งจะมีประสบการณ์พิเศษ เช่นมีความเข้าใจใหม่ๆจากการอ่านพระคัมภีร์ จะรู้สึกถึงความรักที่พระเจ้ามีให้กับเราขณะที่กำลังทำหรือร่วมพิธีกรรมต่างๆในเวลานมัสการอยู่ในโบสถ์ ในที่ประชุมที่มีคนพิเศษมาสอนหรือเทศนา แต่ประสบการณ์กับความรู้สึกพิเศษเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้ง อีกด้านหนึ่งของคำสอนนี้ก็บอกเป็นนัยว่าถ้าเราไม่ทำพิธีหรือกิจกรรมเหล่านี้เราก็จะห่างจากพระเจ้า ความเข้าใจนี้ทำให้ผมรู้สึกกลัวและฟ้องผิดอยู่เสมอโดยเฉพาะเวลาที่เราไม่ค่อยทำสิ่งเหล่านั้นและหรือทำบาปเยอะในช่วงชีวิตนั้น
ให้เรามาหยุดคิดและถามคำถามกันหน่อยเกี่ยวกับคำสอนนี้เพื่อที่จะเข้าใจ 
  • อะไรเป็นตัววัดว่าเราได้ติดสนิทกับพระเจ้าแล้ว เป็นประสบการณ์พิเศษเหล่านั้นหรือเปล่า ?
  • ถ้าใช่นั่นหมายความว่าการติดสนิทกับพระเจ้าคือการมีประสบการณ์และความรู้สึกพิเศษซึ่งทำให้เราต้องแสวงหาสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอๆหรือ ? 
  • แล้วการจะสนิทกับพระเจ้านั้นขึ้นกับเราฝ่ายเดียวเองหรือเปล่า ? 
  • เราต้องทำแค่ไหนค่อยพอ? 
  • ทำไมต้องทำอะไรก่อนจึงค่อยสนิทได้ ? 
  • สนิทแค่ไหนค่อยพอ ?
  • สนิทนานแค่ไหน? (เพราะคำสอนนี้กำลังพูดเป็นนัยว่าบางเวลาเราก็สนิท บางเวลาเราก็ไม่สนิท) 
  • เราที่เป็นผู้ถูกสร้างจะเป็นตัวกำหนดกับผู้สร้างได้ด้วยหรือ? 
  • แล้วการตายของพระเยซูมีความหมายอะไรในประเด็นนี้ ?

พระคัมภีร์บอกว่าเราที่เป็นผู้เชื่อนั้นเปรียบเหมือนแขนงและพระเจ้าเป็นเถา ภาพนี้ไม่ใช่การบอกว่าเรากับพระเจ้าสนิทกันแล้วดั่งเช่นแขนงกับเถาหรือ เป็นไปได้ไหมที่พระคัมภีร์บอกให้ "คงอยู่ในเรา" คือการประกาศถึงสถานภาพที่แท้จริงของเรากับพระเจ้า และพระคัมภีร์กำลังบอกให้เราใช้ชีวิตตอบสนองต่อความจริงนี้ 

ครั้งนี้มีคำถามเยอะหน่อย แต่ก็อยากฟังคำตอบจากคุณ ครั้งหน้าจะมาดูหัวข้อนี้อีกครั้งจากมุมมองการตายของพระเยซู

6 กุมภาพันธ์ 2557

: ตัวช่วย



ตอนรับเชื่อใหม่ๆมีความสุขมาก (พูดอย่างกับตอนนี้ไม่สุข อิอิ) บางทีมองชีวิตตัวเองตั้งแต่มีพระเจ้ามาจนถึงวันนี้ก็เหมือนชีวิตคู่ของผม ระหว่างผมกับภรรยา 


วันแต่งงานนั้นมีความสุขแบบหาจากที่ไหนไม่ได้และความตื่นเต้นที่อีกไม่นานเราจะได้อยู่กับคนที่เรารักบวกกับการรอคอยจากการเตรียมตัวสำหรับวันนั้นมาระยะหนึ่ง กับความรู้สึกที่เหมือนกับใกล้จะถึงจุดหมายปลายทางอันสวยงามของการเดินทางนึง แน่นอนที่ต้องมีความกลัวกับความกังวลกับคำถามมากมาย เช่น อนาคตเค้ากับเราจะเป็นอย่างไร ต่างคนต่างจะเปลี่ยนไปไหม 

ตอนนี้ก็ผ่านไปได้มากกว่ายี่สิบปีแล้ว จำได้มีวันหนึ่งได้คิดและมองไปที่ชีวิตคู่ แล้วก็รู้สึก(ขอใช้คำนี้)ยำเกรงพระเจัาขึ้นมา เพราะไม่ใช่แค่รอดมาได้หลายปี  แต่ความอัศจรรย์คือตอนนี้รักภรรยาและมีความสุขมากกว่าวันที่แต่งงานอีก ที่บอกยำเกรงพระเจ้านั้นก็เพราะรู้อย่างชัดว่าไม่ใช่ด้วยความสามารถหรือสิ่งใดของเราทั้งสองที่จะอวดได้ โดยเฉพาะท่ามกลางสังคมรวมถึงผู้เชื่อที่มีการหย่าร้างและแตกแยกมากมาย มันง่ายมากที่เราทั้งสองจะมีสิทธิอยู่ในส่วนนั้นซึ่งน่ากลัวมาก จึงขอบอกว่ายำเกรงจริงๆและขอบคุณพระเจ้าด้วย 

                   ความสุขและความรักที่มากขึ้นนั้นเป็นแบบเดียวกับตอนเริ่มต้นไหม ? แน่นอนไม่เหมือน !! 
เพราะเราทั้งสองได้ผ่านหลายรสชาติแห่งกาลเวลา เวลามีสุข.. เวลามีทุกข์.. เวลาเฉลิมฉลอง.. เวลาขัดแย้ง.. เวลาสงสัย.. เวลาผิดหรือถูก.. เวลาสิ้นหวัง.. เวลาที่เดินด้วยความเชื่อ.. หรือเวลาที่เดินด้วยหน้าที่อย่างเดียว.. และเชื่อว่าจะมีเวลาอื่นๆที่ต้องผ่านอีกในอนาคต แต่การได้ผ่านเวลาต่างๆเหล่านี้ด้วยกันเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งที่ให้ความรักกับความสุขของเราสองคนได้โตขึ้น 
                 โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลำบากนั้น ระดับความเชื่อที่มีต่อพระเจ้าก็แต่งต่างกันไป บ่อยครั้งจะรู้สึกว่าความกลัวความกังวลและอารมณ์ต่างๆนั้นเยอะกว่าความเชื่อเสียอีก แล้วความรู้สึกกับความคิดก็จะพาเราไปทางของเราเองมากกว่าทางของพระเจ้า ยิ่งกว่านั้นความรู้สึกที่ดีๆต่อกันและกันในเวลาเหล่านั้นมันช่างหายาก 


ในช่วงนั้น บางทีก็ดูเหมือนตัวเองทำอะไรถูก บางทีก็เป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำให้ผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้ บางเวลาก็เหมือนพระเจ้ากำลังทำบางอย่างอยู่ แต่บางครั้งก็ไม่รู้ผ่านมาได้อย่างไร แล้วค่อยมาเรียนรู้ทีหลัง หรือผ่านไประยะหนึ่งค่อยสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่นได้เห็นถึงความไม่ดีของตัวเอง มองภรรยามีคุณค่ามากกว่าเดิมหรืออย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน รักและเข้าใจความรักของพระเจ้ามากขึ้น 

พอเขียนถึงตรงนี้ก็คิดถึงคำถามว่ามีอะไรที่เป็นตัวช่วยชัดๆ .. นอกเหนือจากตัวเราเองกับพระเจ้า  
  • ตัวช่วยที่เป็นกำลังใจในเวลาที่เราท้อ 
  • ตัวช่วยที่เชื่อเราในเวลาที่เราสงสัยตัวเอง 
  • ตัวช่วยที่โอบกอดเราในเวลาที่เรารู้สึกโดดเดี่ยว 
  • ตัวช่วยที่ฟังในเวลาที่เหมือนไม่มีใครฟังเรา 
  • ตัวช่วยที่แสดงความจริงในเวลาที่เราสับสน หรือบางครั้งถึงขั้นเป็นผู้พยุงเราเดินในเวลาที่เราหมดทั้งแรงกายและแรงใจ 


พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ... ผู้ช่วยนี้เปรียบเหมือนเป็นตัวแทนพระเจ้าที่มารักเรา ที่เราสามารถแตะต้องสัมผัสและเห็นได้ด้วยตาของเรา  ผู้ช่วยนั้นก็คือพี่น้องในพระคริสต์ ผู้ที่บางครั้งก็แตกต่างกับเรามาก บางคนพูดคนละภาษากับเรา บางคนต่างวัยกับเราอย่างมาก บางคนอาจจะต่างฐานะในสังคมกับเรา และบางคนก็มีรสนิยมที่แตกต่างกับเราอย่างที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ นี่คงเป็นสิ่งที่อัศจรรย์จริงๆในพระเจ้า อัศจรรย์ที่พระเจ้าสามารถรักเรา ช่วยเรา สัมผัสส่วนลึกของเราผ่านพระคริสต์ที่อยู่ในคนทั้งหลายที่แตกต่างจากเรา!!!

ขอบคุณพระเจ้าที่ชีวิตใหม่ในพระคริสต์นั้น พระเจ้าไม่ได้ให้เราเดินคนเดียว หรือเป็นชีวิตที่เราต้องพิสูจน์อยู่เสมอว่าเราทำได้ เพราะในความเป็นจริงคือบนไม้กางเขนพระเยซูได้ทำทุกอย่างแล้วเพื่อให้เราดีพอและเพื่อให้เราอยู่ในพระคริสต์ร่วมกันเป็นพระกาย ผูกพันกัน รักกัน ร่วมกันในชีวิตใหม่ในพระคริสต์ 

อยากฟังว่าคุณมีอะไรในชีวิตที่ทำให้คุณยำเกรงพระเจ้าบ้าง อยากฟังเรื่องราวของคุณที่เคยเจอตัวแทนของพระเจ้ามารักคุณ และอยากฟังเรื่องราวที่คุณเป็นตัวแทนของพระเจ้าให้กับคนอื่น....

5 กุมภาพันธ์ 2557

: คงไม่ใช่เรา ...  !!!



                                   ก่อนมารู้จักพระเจ้านั้น ตัวผมก็ไม่ได้ถูกสอนหรือแสดงให้เห็นถึง การให้กับ "คนบาป" นอกเหนือจากการให้กับขอทานริมถนน การเป็นเพื่อนกับพวกเขานั้นยิ่งเป็นสิ่งที่เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งไปเลย เมื่อได้รู้จักพระเจ้า ก็ไม่มีการให้ที่แสดงออกอย่างชัดเจนในคจ.หรือผ่านคจ.  ส่วนมากก็คือการรวบรวมเงินให้กับหน่วยงานหรือกับคนที่ทำอะไรใกล้ชิดกับคนเห่ลานั้น  ยากไปกว่านั้นก็คือไม่ได้พบใครที่สอนอย่างชัดเจนจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับหัวใจของพระเจ้าที่มีให้กับคนกลุ่มนี้ 


                                  บรรยากาศนี้ตอกย้ำเป็นนัยๆว่าใครก็ตามที่จะใช้เวลานำพระเจ้าให้กับพวกเขา คงไม่ใช่เรา คงต้องเป็นคนพิเศษอย่างที่ได้เขียนถึงในตอนก่อนๆ แม้ความเข้าใจจะเป็นอย่างนั้น ลึกๆก็คิดว่าคงจะตื่นเต้นมากถ้าได้เห็นพระเจ้าแตะต้องพวกเขา จนกระทั่งได้ฟังแจ๊คกี้ พูลลิงเจอร์-โต (ผู้เขียนหนังสือแก๊งแดนมังกร) แบ่งปันพระคัมภีร์และประสบการณ์ที่พระเจ้าช่วยเหลือคนติดยาในฮ่องกงอย่างอัศจรรย์ การแบ่งปันของเธอนั้นทำให้เข้าใจพระคัมภีร์ในมุมที่ไม่เคยได้ยินและเห็นมาก่อน ยิ่งกว่านั้นได้สัมผัสถึงสิทธิอำนาจจากเธอเพราะเธอแบ่งปันจากชีวิต ไม่ใช่เป็นแค่ข้อมูล จากนั้นมีโอกาสเชิญสองคนจากทีมแจ๊คกี้ที่เคยติดเฮโรอีนมากกว่าสิบปีมาร่วมประชุมในคจ. และในประชุมนั้นก็เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นและมีประสบการณ์กับพระวิญญาณอย่างใกล้ชิดโดยมีการใช้ของประทานฯจากทีมของแจ๊คกี้ 

                                   สิ่งที่มีความหมายมากขึ้นคือพระเจ้าใช้คนที่สังคมรังเกียจการศึกษาน้อยเข้าออกเรือนจำเป็นว่าเล่น มาเป็นพระพรกับพวกเราที่มีเกียรติมีหน้ามีตาในสังคม รู้สึกถึงพระคุณอย่างมาก จากนั้นไม่นานก็พาตัวเองไปร่วมงานของแจ๊คกี้ที่ฮองกงโดย ตั้งใจจะเรียนรู้เรื่องพระวิญญาณ ของประทานฯและการดูแลคนติดยา ในเวลาไม่กี่เดือนนั้นได้เห็นการอัศจรรย์ ได้เริ่มใช้ของประทานฯ แต่ในการดูแลคนติดยานั้นกลายเป็นว่าตัวเองเป็นผู้ได้รับพระพรจากพวกเขา และพบว่าตัวเองก็เป็นผู้เสพย์ติดผู้หนึ่งไม่แตกต่างจากพวกเขา เพียงแต่สิ่งที่ผมเสพย์ติดนั้นไม่ใช่เฮโรอีนแต่เป็นสิ่งที่ปกปิดได้ง่ายกว่าเนื่องด้วยวิถีชีวิต กำลังทรัพย์ ฯลฯ 

การได้พบตัวเองและพบพระเจ้านั้นทำให้เรายิ่งรู้ถึงพระคุณ

               สุดท้ายชีวิตผมก็เปลี่ยนไป เรียนรู้ว่าจริงๆแล้วไม่มีใครดีกว่าใคร เราต่างเป็นคนเสพย์ติด เราต่างต้องการพระเจ้าทั้งนั้น แลัวคุณล่ะครับ เสพย์ติดอะไร พระเจ้าพร้อมที่จะให้ชีวิตใหม่เสมอ

: ของประทานฯ กับการปรนนิบัติคนจน



คืนนี้มีแรงบันดาลใจมาเขียนต่อจากครั้งที่แล้ว จากตอนที่ ๒  ผมขอพระเจ้าให้ผมเห็นคนบาปเหล่านั้นในชีวิตรอบข้างผมนอกจากตัวเอง และยิ่งไปกว่านั้นขอพระคุณเพื่อผมจะเป็นเพื่อนของพวกเขาด้วย ลำพังด้วยตัวเองมันเป็นไปไม่ใด้อย่างแน่นอน ตั้งแต่ได้รู้จักพระเจ้าผมได้ยินคำสอนที่มีเหตุผลหลากหลายที่สุดท้ายก็ทำให้เรามองข้ามคนกลุ่มนี้ไป เช่น 



1. ให้เราสนใจคนกลุ่มอื่นเพราะพวกเขาก็จน คือ จนฝ่ายวิญญาณ ซึ่งก็ถูกต้องที่ใครก็ตามที่ยังไม่รู้จักพระเจ้าก็จนฝ่ายวิญญาณทุกคน แต่สิ่งที่เราได้พบจากพระคัมภีร์ตามที่ได้แบ่งปันในสองตอนที่แล้วว่าพระเยซูได้เจาะจงให้ความสนใจกับคนบาปที่รวมถึงคนที่จนฝ่ายกายอย่างชัดเจน นอกเหนือจากกลุ่มคนที่จนฝ่ายวิญญาณด้วย

2. ก
ารใส่ใจและการปรนนิบัติต่อคนบาปเหล่านั้นเป็นของประทานฯ ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ หรือ บางคนก็จะพูดง่ายๆว่าผมไม่มีของประทานฯนี้ คนเหล่านี้ก็จะเน้นแต่สิ่งที่ถนัดหรือชอบ ซึ่งน้อยคนที่จะรู้และมั่นใจว่าตัวเองมีของประทานฯอะไร มีผู้เชื่อเยอะมากที่ใช้เวลานานในการค้นหาแต่แล้วก็ไม่มีคำตอบให้กับตัวเอง 
 และสิ่งที่ประหลาดในวงการคริสเตียนไทยก็คือของประทานฯที่เด่นชัดนอกจากจะมีไม่กี่อย่างแล้วยังมีแค่ในคนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น แล้วดูเหมือนว่าของประทานฯ  ก็จะเป็นตัวกำหนดหน้าที่ไปในตัว เช่น ของประทานฯการเป็นผู้ประกาศ ของประทานฯการเป็นศิษยาภิบาล ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเข้าใจของประทานฯอย่างไรก็ตาม 


ในพระคัมภีร์กาลาเทีย บทที่ 2 ได้บันทึกว่าในขณะที่ผู้นำยอมรับและส่งคนออกไปประกาศข่าวประเสริฐ คนหนึ่งประกาศกับคนต่างชาติ อีกคนประกาศกับคนยิว ผู้นำก็ยังย้ำว่าอย่าลืมคนจน ซึ่งเปาโลบอกว่านี่ก็เป็นสิ่งที่เขากระตือรืนล้นจะทำอยู่แล้ว จากตรงนั้นเราก็ได้เห็นว่าการประกาศและการปรนนิบัติคนจนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคริสตจักรซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับของประทานฯเลย 
             แล้วถ้าเรามาดู 1โครินธ์ 12-14โดยเฉพาะบท14 ข้อ1ที่ให้เราใฝ่หาของประทานฯอย่างกระตือรืนล้นเพื่อประโยชน์ร่วมกัน สุดท้ายไม่ใช่ว่าตัวเรามีของประทานฯอะไรแต่ด้วยความรักและความเชื่อ เรายอมร่วมงานกับพระเจ้าผู้มีทุกอย่างที่จะทำผ่านตัวเราเองเพื่อคนอื่นจะได้รับประโยชน์

             คิดอย่างไรกับเหตุและผลที่ผมได้เสนอ ...... ? 

: คนที่ดึงดูดพระเยซู



              เป็นไปใด้ไหมว่ามีคนกลุ่มอื่นที่เราในฐานะสาวกของพระเยซูและคริสตจักรของพระองค์ใด้มองข้ามหรือเข้าใจพวกเขาผิดไปในบริบทของแผนการณ์ของพระเจ้าและคริสตจักร แต่เป็นกลุ่มคนที่สำคัญมากในหัวใจของพระเจ้าดังเราจะเห็นพระคัมภีร์บันทึกว่าพระเยซูใด้ใส่ใจคนกลุ่มนี้อย่างมาก บางครั้งพระเยซูเองก็ถูกข่มเหงและถูกพิพากษาเพราะใช้เวลากับคนกลุ่มนี้ กระนั้นพระเยซูก็ไม่ได้หยุดหรือลดน้อยลงในการให้เวลาและทำการอัศจรรย์กับคนกลุ่มนี้ ตอนพระเยซูมีชีวิตอยู่นั้นพระเยซูถึงกับมีฉายาว่า "เพื่อนของคนบาป" ซึ่งในที่นี้   ถ้าใครอ่านพระคัมภีร์ก็รู้ว่าคนบาปนี้หมายถึงคนหลายประเภท เช่น คนป่วยด้วยโรคที่สังคมรังเกียจหรือโรคที่สังคมพิพากษาว่าโรคนั้นเป็นผลจากความบาปของผู้ป่วย คนที่มีอาชีพที่ผิดศีลธรรมแล้วนำสู่ความรังเกียจหรือการปฏิเสธและพิพากษาจากคนในสังคมโดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่เคร่งครัดกับการปฎิบัติในสิ่งที่เขาเชื่อหรือคนที่มีอาชีพพร้อมอำนาจในสังคมที่โกงกินคนชาติเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีคนต่างชนชั้น คนต่างความเชื่อ คนต่างชาติ คนที่มีวิถีชีวิตที่ด้อยโอกาส สกปรก และพึ่งคนอื่นในการใช้ชีวิตแต่ละวัน ฯลฯ




               สิ่งแรกที่พระเยซูทำกับคนบาปเหล่านี้คือ  ประกาศถึงปีแห่งความโปรดปรานจากพระสัญญาในอิสยาห์แล้วบอกอย่างชัดว่าพระคัมภีร์ตอนนี้ได้สำเร็จแล้ว (ลูกา ๔:๒๑) เราก็เห็นด้วยว่าพระเยซูไม่ได้มาพิพากษาหรือปฏิเสธพวกเขา แต่กลับมาใส่ใจพวกเขา กินกับพวกเขา เยียวยาพวกเขา ให้ชีวิตใหม่กับพวกเขา เป็นเพื่อนพวกเขา ถึงขั้นยอมตายเพื่อพวกเขา

              พอเขียนถึงตอนนี้ก็ อดไม่ใด้ที่รู้สึกอิจฉาคนกลุ่มนี้ที่ถูกเรียกว่าคนบาป .... เพราะดูเหมือนพวกเขาดึงดูดพระเยซูมาก และต้องหยุดถามตัวเองว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งในคนกลุ่มนี้รึเปล่า แต่ละกลุ่มของคนบาปที่บรรยายนั้นคือใครในพระคัมภีร์ แล้วปัจจุบันคนเหล่านี้คือใครในชีวิตและสังคมที่เราอยู่ ?? 

: พระพรโตรอนโต กับคริสตจักร

อยู่ดีๆก็มีความคิดบางอย่างและอยากเขียนเพื่อให้คนอื่นได้อ่านด้วย อย่างที่รู้ว่าผมใช้เวลานานในการเขียน เลยอยากแบ่งปันเป็นตอนๆ ไม่รู้กี่ตอน ถ้ามีการตอบสนองจากผู้อ่านดี ก็จะเป็นกำลังใจให้เขียนต่อไป โดยเฉพาะเวลาที่มีแรงบันดาลใจ อิอิ


ตอนที่๑

                  ตั้งแต่ปี 1995 ที่มีพระพรโตรอนโตเกิดขึ้นในประเทศไทยมีคนจำนวนหนึ่งได้พูดหรือพยากรณ์ว่า  การฟื้นฟูจะเกิดขึ้นในหมู่วัยรุ่นหรือคนรุ่นต่อไปและก็มีคำแนะนำจากหมู่อาจารย์และผู้นำใหักับผู้บุกเบิกคริสตจักรให้ประกาศเจาะจงกับวัยรุ่นหรือนักเรียนนักศึกษาเพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังให้กับคริสตจักร และก็มีบางคริสตจักรก็จะเน้นกลุ่มคนที่เขาเรียกว่าปลาใหญ่ก็คือคนที่มีฐานะนอกเหนือจากคนกลุ่มแรกที่เราพูดถึง ทั้งสองกลุ่มล้วนถูกอ้างว่าเป็นกำลังสำคัญในด้านกำลังกาย เวลาและเงินให้กับคริสตจักรและการขยายของคริสตจักรสู่นิมิตที่พระเจ้าได้ให้ไว้   ... แต่พอพูดแบบนี้แล้วก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เพราะฉนั้นก่อนที่จะพูดต่อไปผมขอใช้เวลาหน่อยพูดถึงความไม่สบายใจข้างต้น ที่รู้สึกไม่สบายใจเพราะกลายเป็นว่าคนสองกลุ่มนี้ถูกมองเหมือนเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อองค์กรที่เราเรียกว่า "คริสตจักร"  ดูเหมือนคุณค่าของคนถูกลดลงอย่างไรไม่รู้ จึงอยากถามว่า "คริสตจักรคืออะไร?"  คริสตจักรมีเพื่อคน? หรือ คนมีเพื่อคริสตจักร ? 

                   ในพระคัมภีร์เขียนชัดมากว่าให้เราออกไปสร้างสาวก ประกาศข่าวดีของแผ่นดินของพระเจ้า สอนและบัพติสมาพวกเขาจนถึงปลายสุดแผ่นดินโลก ไม่เคยเห็นให้ไปบุกเบิกและสร้างคริสตจักร แต่ในพระคัมภีร์ใด้พูดถึงว่าในขณะที่สาวกออกไปประกาศ "พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คนทั้งหลายที่กำลังจะได้ความรอดมาเข้ากับพวกเขา" พอคนที่ใด้รับความรอดเข้ากับพวกสาวก กลุ่มคนก็เกิดขึ้น มีความสัมพันธ์ด้วยกัน ผูกพันกัน ใช้ชีวิตด้วยกัน แบ่งปันสิ่งของ เงินทอง เวลาให้กันและกัน และร่วมเดินทางชีวิตไปด้วยกัน ชุมชนอย่างนี้เราจะใช้คำอะไรมาบรรยาย องค์กรหรืออะไร แล้วกลับไปคำถามเดิม ถ้าคจ.เป็นชุมชนอย่างที่ใด้บรรยาย คริสตจักรมีเพื่อคนหรือคนมีเพื่อคริสตจักร ..

: สองเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ..

ตอนที่ 1.1

                           
                            วันที่บัญญัติลงมาจากเขา 3,000 คนตาย วันที่พระวิญญาณลงมามี 3,000 คนได้ชีวิตใหม่ สองเหตุการนี้คงไม่ใช่บังเอิญ แต่บอกถึงอะไรบ้างระหว่าง บัญญัติกับพระวิญญาณ แล้วถ้าเรามีความสัมพันธ์กับคนอยู่บนบัญญัติ จะออกมาเป็นอย่างไร ....

4 กุมภาพันธ์ 2557

:: เกี่ยวกับบล็อค



KINGDOM SQUARE :: คิงด้อมสแควร์

               

    .......................................

         ในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยกระจายข่าวสารให้แพร่หลายถึงกัน หลายๆประเทศมักจะมีสถานที่เปิดโล่งกว้างในใจกลางเมือง ที่นอกจากจะใช้เป็นที่ตั้งตลาดของเมืองนั้นแล้ว จะถูกใช้เป็นที่ที่คนทั้งหลายมาเจอกันเพื่อส่งข่าวสาร เสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สถานที่อย่างนี้มักจะเรียกว่าสแควร์   ความคิดของคิงด้อมสแควร์จึงเกิดขึ้น เป็นพื้นที่ในโลกไซเบอร์ที่ความคิดเกี่ยวกับคิงด้อม(แผ่นดินของพระเจ้า)และการงานต่างๆที่พระเยซูได้ทำสำเร็จแล้วทั้งบนกางเขนกับการเป็นขึ้นจากความตายของพระองค์ จะถูกนำเสนอและแลกเปลี่ยนกัน                                        
           หวังว่าจากสิ่งที่เกิดขึ้นในบล็อกนี้จะทำให้ทุกคนได้พบความจริงของพระเยซูและข่าวประเสริฐมากขึ้นซึ่งจะนำสู่ชีวิตที่เต็มด้วยเสรีภาพ ฤทธิ์เดช และการนมัสการพระเจ้า
                                                                                  ......................................