24 กันยายน 2559

: พันธสัญญาใหม่ vs การฟื้นฟู


หลายครั้งที่เราคริสเตียนมีโอกาสไปร่วมงานประชุมพิเศษที่เรียกกันว่า"งานฟื้นฟู"โดยหวังว่าจะเป็นเวลาที่จะมีประสบการณ์กับพระเจ้าหรืออาจเป็นเวลาที่จะเรียนรู้บางอย่างใหม่ๆเกี่ยวกับพระเจ้า สุดท้ายแล้วเพื่อให้กายใจและวิญญาณของเราได้"ฟื้นขึ้น" หรือเรียกว่ามีชีวิตชีวาขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าเป้าหมายสุดท้ายคือชีวิตที่เปลี่ยนแปลงให้เหมือนพระเยซูมากขึ้น แต่แล้วหลายครั้งหลังงานอาจแค่ไม่กี่ชั่วโมงความรู้สึกฟื้นขึ้นก็หายไป ทำให้บางทีก็พูดเล่นกันว่าพอฟูแล้วก็แฟบ บางครั้งก็เรียกว่ารั่ว หลายคนเลยเข้าใจว่าเขาต้องไปงานพิเศษอีกเพื่อจะให้ฟื้นขึ้นหลังจากแฟบลง ชีวิตคริสเตียนก็กลายเป็นอยู่ในวงจรฟูแฟบฟูแฟบ จากประสบการณ์เหล่านี้ก็เริ่มมีคำสอนว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อที่ประสบการณ์ "ฟื้นฟู" นี้จะอยู่กับเราได้ยาวนานขึ้น ส่วนตัวเรียกคำสอนแบบนี้ว่า"วิธีที่เราจะต้อนรับและคงการทรงสถิต" ผู้เชื่อที่อยู่ในวงจรนี้ต่างมองหาทางที่จะพบพระเจ้ามากขึ้นเพื่อให้ชีวิตได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เหมือนพระเยซู 

คำถามคือการที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้เหมือนผู้สร้างเรานั้น เราซึ่งเป็นผู้ถูกสร้างควรมีส่วนแค่ไหนในกระบวนการนี้ และมีวิธีอื่นอีกไหมที่เราจะสามารถออกจากวงจรนี้ได้โดยที่ยังมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเหมือนพระเยซูด้วย

ในยุคแห่งพันธสัญญาใหม่ที่เราอยู่ขณะนี้ เป็นยุคที่มีพระสัญญาแตกต่างจากพันธสัญญาเดิม ในเยเรมีย์ 31 ได้เปรียบเทียบสองพันธสัญญาไว้และได้ชี้ให้เห็นถึงจุดสำคัญที่แตกต่างกันมากที่สุด 2 ประการ
ประการแรก ในพันธสัญญาเดิมนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์ แต่พันธสัญญาใหม่ล้วนเป็นพระเจ้าที่กระทำในเราและเปลี่ยนชีวิตของเราจากภายในออกมา "...เราจะทำพันธสัญญาใหม่..." (31) "...เราจะใส่บทบัญญัติของเราในจิตใจของพวกเขา...เราจะเป็นพระเจ้าของพวกเขา..." (33) "...เราจะอภัยความชั่วร้ายของเขา และจะไม่จดจำบาปทั้งหลายของเขาอีกต่อไป..." (34) และจาก เอเสเคียล 36:26,27 "...เราจะให้จิตใจใหม่แก่เจ้าและใส่วิญญาณใหม่ในเจ้า เราจะขจัดใจหินออกจากเจ้าและให้เจ้ามีใจเนื้อ เราจะใส่วิญญาณของเราไว้ในเจ้า โน้มนำเจ้าให้ปฏิบัติตาม..." ผู้ใดที่อยู่ในพันธสัญญาใหม่ก็มีแต่เชื่อยอมรับและไว้วางใจในพระเจ้าที่ซื่อสัตย์และมีความสามารถยิ่งใหญ่ที่จะทำให้พันธสัญญาใหม่เป็นจริงในเรา อย่างที่ใน กาลาเทีย 3 บอกไว้ว่าเราเริ่มด้วยความเชื่อ ก็ต่อด้วยความเชื่อ และจบด้วยความเชื่อ หรือใน เอเฟซัส 2:8,9 "...ได้รับความรอดโดยพระคุณผ่านทางความเชื่อ...ไม่ใช่ความรอดโดยการประพฤติ..."

ประการที่สอง จาก 2 โครินธ์ 3 เน้นถึงพันธสัญญาใหม่ที่มีความยิ่งใหญ่กว่าพันธสัญญาเดิม โดยที่พันธสัญญาใหม่หรือ"พันธสัญญาแห่งพระวิญญาณ" ให้ชีวิตและเสรีภาพ ในขณะที่พันธสัญญาเดิมหรือ "พันธสัญญาแห่งบทบัญญัติ..” ประหารชีวิต (2 โครินธ์ 3:6) แม้ว่าพันธสัญญาแห่งบทบัญญัติจะมีรัศมีอย่างช่วงที่โมเสสลงมาจากเขาพร้อมด้วยใบหน้าเปล่งรัศมี แต่แล้วโมเสสก็ต้อง "...เอาผ้าคลุมหน้าเพื่อไม่ให้ชนอิสราเอลมองเห็นรัศมีที่กำลังจางหายไป" พันธสัญญาแห่งพระวิญญาณจึงยิ่งใหญ่กว่าเพราะนอกจากจะให้ชีวิตและเสรีภาพแล้ว พันธสัญญาแห่งพระวิญญาณยังมีรัศมีที่ไม่จางหายไปแต่"เพิ่มพูนขึ้น" (2 โครินธ์ 3:18) สิ่งที่เป็นข่าวดีคือด้วยรัศมีนี้ "เราทั้งหลายผู้ไม่มีผ้าคลุมหน้าล้วนใคร่ครวญพระเกียรติสิริขององค์พระผู้เป็นเจ้า เรากำลังรับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเหมือนพระองค์ด้วยรัศมีที่เพิ่มพูนขึ้นทุกที อันเป็นรัศมีซึ่งมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นพระวิญญาณ" 

ดังนั้นเราจึงไม่ต้องมองหาพระเกียรติสิริขององค์พระผู้เป็นเจ้าหรือรัศมีจากภายนอกของเรา ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมาเพื่อให้การ "ฟื้นฟู"คงอยู่ในเรา แต่เรากลับมีรัศมีนี้อยู่ในเราที่ไม่จางหาย มีแต่เพิ่มพูนขึ้น และเปลี่ยนแปลงเราผู้เชื่อให้เหมือนพระเยซู ผู้เชื่อทุกคนจึงไม่ต้องอยู่ในวงจรฟูแฟบ ทั้งหมดนี้เป็นจริง ก็เพราะการตายและการเป็นขึ้นของพระเยซูได้เริ่มยุคของพันธสัญญาใหม่ นี่คือข่าวดี!!!













14 กันยายน 2559

: ชีวิตที่เหนือธรรมชาติ


ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเริ่มประกาศ "จงกลับใจใหม่เพราะอาณาจักรสวรรค์มาใกล้แล้ว" เพื่อ "เตรียมทางสำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางสำหรับพระองค์ให้ตรงไป" (มัทธิว 3:1-3) ยอห์นรู้ดีอย่างมากถึงบทบาทของตัวเอง แม้ยอห์นได้ทำผลงานอย่างดีเยี่ยมในการประกาศ แต่เขาก็ชัดเจนเสมอว่าเขามาเพื่อเตรียมทางให้กับผู้ที่สำคัญกว่าเขา และประกาศว่า"ภายหลังเราจะมีผู้หนึ่งทรงฤทธิ์อำนาจยิ่งกว่าเราเสด็จมา เราไม่คู่ควรแม้แต่จะถือฉลองพระบาทของพระองค์ พระองค์จะทรงให้ท่านทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ" (มัทธิว 3:11) ยอห์นยอมรับว่าเวลาของเขาแค่ชั่วคราว และพร้อมที่จะลดบทบาทลงเมื่อผู้ทรงฤทธิ์มาถึง 



ในขณะที่ยอห์นกำลังเตรียมทางและรอการมาของผู้ทรงฤทธิ์นั้น ภารกิจของพระเยซูก็เริ่มถูกกล่าวถึงกันมากขึ้น "กิตติศัพท์เรื่องนี้ของพระเยซูก็เลื่องลือไปทั่วแคว้นยูเดียและดินแดนโดยรอบ พวกสาวกของยอห์นมาเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านั้น" (ลูกา 7:17-18) รายงานของสาวกทำให้ยอห์นสนใจขึ้นมาว่าผู้นี้ใช่เป็นผู้ที่เขารอคอยหรือเปล่า จึง "ส่งเขาไปทูลถามองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “ท่านคือผู้ที่จะมานั้นหรือเราจะต้องคอยผู้อื่น?” (ลูกา 7:19) สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคืออะไรเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าพระเยซูคือผู้นั้น พระเยซูรู้ว่าตัวเองคือใครและพร้อมที่จะแสดงตัวให้ยอห์นรับรู้ สิ่งที่พระเยซูใช้พิสูจน์ว่าตัวเองคือผู้ทรงฤทธิ์ก็คือการประกาศ(ใช้ถ้อยคำ)เรื่องข่าวประเสริฐ และสิ่งอัศจรรย์เหนือธรรมชาติที่พระเยซูทำ(ใช้การงาน) "จงกลับไปรายงานสิ่งที่ท่านได้เห็นได้ยิน...คือคนตาบอดมองเห็นได้ คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกกลับได้ยิน คนตายแล้วเป็นขึ้นมา และข่าวประเสริฐได้ประกาศแก่คนยากไร้ " (ลูกา 7:22) การอัศจรรย์ที่พระเยซูทำเป็นการสาธิตถึงข่าวประเสริฐที่ได้ประกาศออกไป ข่าวประเสริฐจึงไม่ใช่แค่คำพูดอย่างเดียวแต่มีการงานหรือการกระทำที่แสดงออกมาตามคำพูดด้วย "เพราะข่าวประเสริฐของเรามาถึงท่านไม่ใช่เพียงด้วยถ้อยคำเท่านั้น แต่ด้วยฤทธิ์อำนาจ..." (1 เธสะโลนิกา 1:5) "...ข่าวประเสริฐคือฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า..." (โรม 1:6)

แม้พระเยซูในเวลานั้นเป็นตัวเป็นตนที่จับต้องได้มองเห็นได้  การพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นใครยังคือการประกาศข่าวประเสริฐที่มีการอัศจรรย์เหนือธรรมชาติมาสนับสนุน ไม่ใช่สิ่งอื่นหรือวิธืใดเลย ไม่ใช่ด้วยเรื่องตระกูล ไม่ใช่ว่ามาจากธรรมศาลาไหน ไม่ใช่ด้วยการศึกษา ไม่ใช่ด้วยจำนวนคนติดตาม ไม่ใช่ด้วยวาจา ไม่ใช่ด้วยเงินทอง แต่ด้วยการทำการอัศจรรย์เหนือธรรมชาติที่มาพร้อมกับการประกาศข่าวประเสริฐ ในยุคนี้เพราะเราเป็นพระกาย เพราะเราต่างมีพระคริสต์ในเรา ก็ยิ่งควรทำการอัศจรรย์เหนือธรรมชาติมากขึ้นอย่างที่พระคัมภีร์ได้บอกไว้ว่าเราจะทำ "เราบอกความจริงแก่พวกท่านว่า ผู้ที่เชื่อในเราจะทำสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เขาจะทำแม้กระทั่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีก" (ยอห์น 14:12) เพื่อมาแสดงถึงว่าพระเยซูคือพระผู้ช่วยให้รอด คือผู้ทรงฤทธิ์ และคือองค์พระผู้เป็นเจ้า 

ในหนังสือกิจการบันทึกการงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทำผ่านชีวิตของอัครฑูตและสาวกโดยที่ไม่มีพระเยซูอยู่กับเขาเป็นตัวเป็นตน พวกเขาประกาศข่าวประเสริฐและทำการอัศจรรย์อย่างที่พระเยซูทำ สิ่งที่น่าทึ่งอย่างมากคือไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่งที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ แต่กลายเป็นทั้งอัครฑูตและสาวกทุกคนทำได้หมด “ผู้ที่เชื่อจะมีหมายสำคัญดังนี้คือ เขาทั้งหลายจะขับผีออกโดยนามของเรา เขาจะพูดภาษาใหม่ๆ เขาจะจับงูด้วยมือเปล่า และเมื่อดื่มพิษร้ายเขาจะไม่เป็นอันตรายเลย เขาจะวางมือให้คนเจ็บคนป่วยและคนเหล่านั้นจะหายโรค” (มก 16:17,18) แม้คริสตจักรถูกข่มเหงและกระจัดกระจายไป สาวกทั้งหลายก็ยังประกาศข่าวประเสริฐในทุกหนทุกแห่งที่พวกเขาไปแม้อัครฑูตไม่ได้อยู่ด้วย การประกาศจึงเป็นวิถีชีวิตของพวกสาวกอย่างมาก “บรรดาผู้กระจัดกระจายไปนั้นก็เที่ยวประกาศพระวจนะในทุกแห่งหนที่พวกเขาไป” (กจ 8:4)


การทำการอัศจรรย์เหนือธรรมชาติที่มาพร้อมกับการประกาศข่าวประเสริฐจึงควรเป็นวิถีชีวิตของผู้เชื่อทุกคน เป็นสิทธิพิเศษที่พระเจ้าให้เราที่เป็นลูกได้ทำร่วมกับคุณพ่อในการให้ความรักของคุณพ่อออกไปเพื่อคนทั้งหลายจะได้รับชีวิตใหม่ ให้เราเชื่อและต้อนรับชีวิตใหม่นี้ แล้วใช้ชีวิตให้คนทั้งหลายได้ยินและมีประสบการณ์กับข่าวที่ประเสริฐจริงๆ ...