24 ตุลาคม 2559

: คนจีนในพระคัมภีร์ของคริสเตียน

เราคงเคยได้ยินคนบอกว่าเรื่องพระเจ้าเป็นเรื่องของฝรั่ง  แต่จริงๆแล้วรู้ไหมครับว่า พระคัมภีร์ของคริสเตียนมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนเอเชียอยู่ด้วย  ส่วนตัวผมเองสนใจประเทศจีน ยิ่งค้นคว้ายิ่งค้นพบว่าโลกโบราณของจีนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของพระเจ้าอย่างมาก ก็เลยอยากจะใช้พื้นที่นี้ถ่ายทอดสิ่งที่ได้รู้มา ซึ่งบางอย่างยังเป็นที่ถกเถียงแต่มีมูลที่น่าเชื่ออย่างมาก และเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่จะเล่าออกมาจากใจที่รักพระเจ้าและคนที่รักประเทศจีน


ข้อแรก

ภาษาที่เก่าแก่มากๆของโลกที่ยังมีใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีไม่กี่ภาษาครับ สามภาษาที่รู้จักกันดีคือ ภาษาอินเดีย ภาษาจีน ภาษาฮีบรู สามภาษานี้มีบางอย่างที่คล้ายๆกันคือ เก่าแก่มากๆหาจุดเริ่มต้นไม่ได้ และตัวอักษรในภาษาเหล่านี้เกิดจากการใช้ชอร์คหรือผู้กันขีด ขีดจำนวนมากมารวมกันเป็นคำ หลายคนเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของภาษาเหล่านี้สามารถสืบย่อนไปถึงยุคของหอบาเบลในพระคัมภีร์เดิม

มีตัวอย่างคำภาษาจีนที่ผมชอบมากๆที่แสดงเรื่องราวในพระคัมภีร์เดิมครับ คือคำว่า ความ "ชอบธรรม/義" คำนี้เกิดจาก คำว่า "แกะ/羊“วางไว้บนคำว่า "ฉัน/我" แกะปกคลุมฉันคือชอบธรรม



อีกคำคือ "เรือใหญ่/船“ เกิดจากคำว่า "เรือเล็ก/舟" และ "แปดคน/八口" เรื่อใหญ่คือเรื่อที่มีครอบครัวที่มีสมาชิกแปดคน ให้ตายเถอะนี่คือเรื่อโนอาร์ครับ รากศัพท์ภาษาจีนมาจากยุคนั้น

คำที่สามคือ "มาร/ปีศาจ/魔" อธิบายตามองค์ประกอบคือ บุคคล (儿) ที่ลี้ลับ(厶) มีชีวิต(丶) อาศัยในสวน(田) รวมเป็นคำแรกว่า"ผี/鬼"และ "ผี/鬼” ที่อยู่ในพี้นที่ปิด (广) ที่เป็นป่า (林) รวมเป็นคำใหม่ว่า "มาร/魔"เห็นได้ชัดครับว่ามีเรื่องราวของมารในสวนเอเดนปะปนอยู่ในอักษรจีนครับ


ข้อสอง
ความเชื่อจีนสมัยโบราณ 3,000 ปี ก่อนที่จะมีตำนานเรื่องเทพหรือเซียน หรือมังกร จีนเคยมีเทพเจ้าที่เก่าแก่มากที่สุดชื่อ 上帝 (ซ่างตี้) แปลตามตัวคือ "จักรพรรดิผู้ครองเบื้องบน" เป็นบิดาหรือต้นกำเหนิดสรรพสิ่งทั้งปวงในจักรวาล ไม่มีภาพ ไม่มีรูปร่างหน้าตา แต่ฮ่องเต้ต้องถวายเครื่อบูชาให้กับซ่างตี้ทุกปี ถ้าจะบอกว่าคนจีนมาจากหอบาเบลก็ยิ่งเข้าเค้า ปัจจุบันคำนี้ให้กับพระเจ้าของคริสเตียน


ข้อสาม
ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล อิสยาห์ 49:12 “ดูเถิด พวกเขาจะมาจากแดนไกล บางคนมาจากทางเหนือ บางคนมาจากทางตะวันตก บางคนก็มาจากอัสวาน " เป็นคำแปลที่แปลสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นโดยต้นฉบับที่หลงเหลืออยู่ไม่ใช่ต้นฉบับที่เก่าแก่มากนัก แต่ล่าสุด เมื่อหลายสิบปีก่อนมีคนเลี้ยงแกะไปพบพระคัมภีร์โบราณใช้ภาษาฮีบรูโบราณซุกซ่อนในถ้ำกลายเป็นการค้นพบพระคัมภีร์โบราณฉบับที่ความเก่าแก่นั้นแซงหน้าต้นฉบับทุกต้นฉบับก่อนหน้านี้ทั้งหมด คาดว่าความเก่าแก่เป็นยุคก่อนพระเยซูและเป็นช่วงที่ผู้เชื่อถูกห่มเหงหนีไปหลบซ่อนตัวในถ้ำและนำพระคัมภีร์เหล่านี้ไปซ่อนด้วย สิ่งที่เขาพบกันคือพระคัมภีร์ข้อนี้ไม่ได้ใช้คำว่า "อัสวาน/Aswan" เหมือนกับฉบับที่ใช้ต่อๆกันมาหลายๆศตวรรษ แต่กลับใช้คำว่า "สินิม/Sinim" ไม่มีใครอธิบายได้ว่า "อัสวาน" คืออะไร มันไม่ตรงกับชื่ออาณาจักรใดๆในสมัยโบราณเลย มีทฤษฏีต่างๆมั่วไปหมดพยายามสรุปให้ได้ว่ามันคือเปอร์เซียแต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ และไม่มีใครรู้ว่าทำไมต้นฉบับสุดเก่าที่พึ่งพบกลับเขียนว่าเป็น "สินิม/Sinim"

มาดูคำว่า "สินิม/Sinim" กัน ทั้ง "อัสวาน" และ "สินิม" ถูกอธิบายว่าเป็นดินแดนที่อยู่ไกลสุดโต่งทางตะวันออก คนตะวันออกกลางโบราณเรียกดินแดนนี้ว่า "สินิม" หรือบางคนในยุคถัดมาเรียกอานาจักรนี้ว่า "อัสวาน" คำว่าอัสวานไม่มีใครรู้ ผมก็ไม่รู้ แต่ อาณาจักรตะวันออกไกลสุดโต่งในสมัยอิสยาห์ มีแต่"อาณาจักรฉิน" (秦国)ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จินซีฮ่องเต้ครองอำนาจ แต่ถือเป็นรัฐที่มีอิทธิพลมากในโลกโบราณ คำว่า ฉินเป็นต้นกำเหนิดของคำที่เราใช้เรียกประเทศจีนในภาษาต่างๆในโลกปัจจุบัน ฉิน/จีน/Sina/Sino/Chin/China ตามแต่ว่าภาษาต่างๆจะออกเสียงอย่างไร และ "สินิม/Sinim" คือเสียงในภาษาตะวันออกกลางโบราณ พระคัมภีร์ไบเบิ้ลภาษาจีนบางเวอร์ชั่นระบุเลยว่าเป็น "อาณาจักรฉิน/秦国” นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างว่าจีนปรากฎในโลกโบราณสมัยพระคัมภีร์ไบเบิ้ล

ข้อสี่

ตอนที่พระเยซูเกิด มีนักปราชญ์สามคนเดินทางมาจากตะวันออกไกล พวกเขามาถึงตอนที่พระเยซูอายุได้เกือบ 2 ปี และมอบของขวัญเป็น ทองคำ กำยาน และมดยอบ หลายคนพยายามสรุปให้ได้ว่าพวกเขาเป็นชาวตะวันออกกลางชาติไหนแต่สรุปไม่ได้ รู้แต่พวกเขามาจากตะวันออกไกลมากๆ และมีความรู้เรื่องโหราศาสตร์การดูดาวขั้นเทพขนิดที่รู้ว่ากษัตริย์ลงมาเกิด และเดินทางออกจากบ้านตัวเองมาใช้เวลา 2 ปีค่อยมาถึงโดยการติดตามดาว 

ท่านเหล่านี้ถูกต้อนรับโดยกษัตริย์เฮโรดซึ่งเป็นเจ้าเมืองของอาณาจักรโรมัน และจากการต้อนรับแบบให้เกียรติ์ของเฮโรดอาจจะสรุปได้เลยว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่โรมัน แต่เป็นแขกบ้านแขกเมืองฐานะสูงที่เฮโรดต้องให้เกียรติ เป็นไปได้ว่าเขามาจากอีกอาณาจักรที่โรมไม่ยุ่ง

ท่านเหล่านี้ได้เตรียมของบรรณาการที่มีความหมายถึงกษัตริย์/จักรพรรดิมาด้วย สีเหลืองของทองคำหมายถึงจักรพรรดิ กำยานและมดยอบเป็นสิ่งที่คนจีนใช้ไหว้สิ่งที่มาจากเบื้องบน และในสมัยสองพันปีก่อนอาณาจักรเดียวในโลกที่มีความรู้เรื่อง โหราศาสตร์ดาราศาสตร์คือจีนโบราณ

ข้อห้า

สมัยพระเยซูเกิด ในประเทศจีนโบราณตรงกับสมัยจักรพรรดิ์เจียนผิงแห่งราชวงศ์ฮั่น มีบันทึกว่ามีดาวหางปรากฎนานถึง 70 วัน เป็นนิมิต เป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง ยุคใหม่ ปีใหม่และสิ่งสำคัญกำลังเกิดขึ้น ที่สำคัญคือมีบันทึกว่านักโหราศาสตร์ระดับหัวหน้าผู้รับใช้ใกล้ชิดฮ่องเต้ หายตัวไปจากประเทศตัวเองเกือบ 2 ปี เป็นปราชย์ที่มีชือเสียงชื่อว่า หลิวเซี่ยง (刘向 / liú xiàng) หลายคนเชื่อว่าท่านผู้นี้เดินทางจากอาณาจักรฮั่น (จีนในปัจจุบัน) มายังอิสราเอล และการเดินทางมาถึงใช้เวลาสองปี พร้อมกับเพื่อนร่วมเดินทางจนมาพบพระกุมารเยซู

เรื่องที่เล่ามาเป็นการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆและพบว่าผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คริสเตียนหลายท่านเริ่มยอมรับ หลายท่านสนใจและสนับสนุนมุมมองเหล่านี้ครับ

ตามนั้นครับ จากใจที่รักพระเจ้ารักคนจีน และพระเจ้าก็รักคนจีน จะบอกว่าพระเจ้ารักคนจีนมาตลอด จึงเขียนมาเพื่อให้รู้ว่าพระเจ้าสำหรับทุกชาติจริงๆ

หมื่นลี้



24 กันยายน 2559

: พันธสัญญาใหม่ vs การฟื้นฟู


หลายครั้งที่เราคริสเตียนมีโอกาสไปร่วมงานประชุมพิเศษที่เรียกกันว่า"งานฟื้นฟู"โดยหวังว่าจะเป็นเวลาที่จะมีประสบการณ์กับพระเจ้าหรืออาจเป็นเวลาที่จะเรียนรู้บางอย่างใหม่ๆเกี่ยวกับพระเจ้า สุดท้ายแล้วเพื่อให้กายใจและวิญญาณของเราได้"ฟื้นขึ้น" หรือเรียกว่ามีชีวิตชีวาขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าเป้าหมายสุดท้ายคือชีวิตที่เปลี่ยนแปลงให้เหมือนพระเยซูมากขึ้น แต่แล้วหลายครั้งหลังงานอาจแค่ไม่กี่ชั่วโมงความรู้สึกฟื้นขึ้นก็หายไป ทำให้บางทีก็พูดเล่นกันว่าพอฟูแล้วก็แฟบ บางครั้งก็เรียกว่ารั่ว หลายคนเลยเข้าใจว่าเขาต้องไปงานพิเศษอีกเพื่อจะให้ฟื้นขึ้นหลังจากแฟบลง ชีวิตคริสเตียนก็กลายเป็นอยู่ในวงจรฟูแฟบฟูแฟบ จากประสบการณ์เหล่านี้ก็เริ่มมีคำสอนว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อที่ประสบการณ์ "ฟื้นฟู" นี้จะอยู่กับเราได้ยาวนานขึ้น ส่วนตัวเรียกคำสอนแบบนี้ว่า"วิธีที่เราจะต้อนรับและคงการทรงสถิต" ผู้เชื่อที่อยู่ในวงจรนี้ต่างมองหาทางที่จะพบพระเจ้ามากขึ้นเพื่อให้ชีวิตได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เหมือนพระเยซู 

คำถามคือการที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้เหมือนผู้สร้างเรานั้น เราซึ่งเป็นผู้ถูกสร้างควรมีส่วนแค่ไหนในกระบวนการนี้ และมีวิธีอื่นอีกไหมที่เราจะสามารถออกจากวงจรนี้ได้โดยที่ยังมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเหมือนพระเยซูด้วย

ในยุคแห่งพันธสัญญาใหม่ที่เราอยู่ขณะนี้ เป็นยุคที่มีพระสัญญาแตกต่างจากพันธสัญญาเดิม ในเยเรมีย์ 31 ได้เปรียบเทียบสองพันธสัญญาไว้และได้ชี้ให้เห็นถึงจุดสำคัญที่แตกต่างกันมากที่สุด 2 ประการ
ประการแรก ในพันธสัญญาเดิมนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์ แต่พันธสัญญาใหม่ล้วนเป็นพระเจ้าที่กระทำในเราและเปลี่ยนชีวิตของเราจากภายในออกมา "...เราจะทำพันธสัญญาใหม่..." (31) "...เราจะใส่บทบัญญัติของเราในจิตใจของพวกเขา...เราจะเป็นพระเจ้าของพวกเขา..." (33) "...เราจะอภัยความชั่วร้ายของเขา และจะไม่จดจำบาปทั้งหลายของเขาอีกต่อไป..." (34) และจาก เอเสเคียล 36:26,27 "...เราจะให้จิตใจใหม่แก่เจ้าและใส่วิญญาณใหม่ในเจ้า เราจะขจัดใจหินออกจากเจ้าและให้เจ้ามีใจเนื้อ เราจะใส่วิญญาณของเราไว้ในเจ้า โน้มนำเจ้าให้ปฏิบัติตาม..." ผู้ใดที่อยู่ในพันธสัญญาใหม่ก็มีแต่เชื่อยอมรับและไว้วางใจในพระเจ้าที่ซื่อสัตย์และมีความสามารถยิ่งใหญ่ที่จะทำให้พันธสัญญาใหม่เป็นจริงในเรา อย่างที่ใน กาลาเทีย 3 บอกไว้ว่าเราเริ่มด้วยความเชื่อ ก็ต่อด้วยความเชื่อ และจบด้วยความเชื่อ หรือใน เอเฟซัส 2:8,9 "...ได้รับความรอดโดยพระคุณผ่านทางความเชื่อ...ไม่ใช่ความรอดโดยการประพฤติ..."

ประการที่สอง จาก 2 โครินธ์ 3 เน้นถึงพันธสัญญาใหม่ที่มีความยิ่งใหญ่กว่าพันธสัญญาเดิม โดยที่พันธสัญญาใหม่หรือ"พันธสัญญาแห่งพระวิญญาณ" ให้ชีวิตและเสรีภาพ ในขณะที่พันธสัญญาเดิมหรือ "พันธสัญญาแห่งบทบัญญัติ..” ประหารชีวิต (2 โครินธ์ 3:6) แม้ว่าพันธสัญญาแห่งบทบัญญัติจะมีรัศมีอย่างช่วงที่โมเสสลงมาจากเขาพร้อมด้วยใบหน้าเปล่งรัศมี แต่แล้วโมเสสก็ต้อง "...เอาผ้าคลุมหน้าเพื่อไม่ให้ชนอิสราเอลมองเห็นรัศมีที่กำลังจางหายไป" พันธสัญญาแห่งพระวิญญาณจึงยิ่งใหญ่กว่าเพราะนอกจากจะให้ชีวิตและเสรีภาพแล้ว พันธสัญญาแห่งพระวิญญาณยังมีรัศมีที่ไม่จางหายไปแต่"เพิ่มพูนขึ้น" (2 โครินธ์ 3:18) สิ่งที่เป็นข่าวดีคือด้วยรัศมีนี้ "เราทั้งหลายผู้ไม่มีผ้าคลุมหน้าล้วนใคร่ครวญพระเกียรติสิริขององค์พระผู้เป็นเจ้า เรากำลังรับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเหมือนพระองค์ด้วยรัศมีที่เพิ่มพูนขึ้นทุกที อันเป็นรัศมีซึ่งมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นพระวิญญาณ" 

ดังนั้นเราจึงไม่ต้องมองหาพระเกียรติสิริขององค์พระผู้เป็นเจ้าหรือรัศมีจากภายนอกของเรา ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมาเพื่อให้การ "ฟื้นฟู"คงอยู่ในเรา แต่เรากลับมีรัศมีนี้อยู่ในเราที่ไม่จางหาย มีแต่เพิ่มพูนขึ้น และเปลี่ยนแปลงเราผู้เชื่อให้เหมือนพระเยซู ผู้เชื่อทุกคนจึงไม่ต้องอยู่ในวงจรฟูแฟบ ทั้งหมดนี้เป็นจริง ก็เพราะการตายและการเป็นขึ้นของพระเยซูได้เริ่มยุคของพันธสัญญาใหม่ นี่คือข่าวดี!!!













14 กันยายน 2559

: ชีวิตที่เหนือธรรมชาติ


ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเริ่มประกาศ "จงกลับใจใหม่เพราะอาณาจักรสวรรค์มาใกล้แล้ว" เพื่อ "เตรียมทางสำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า จงทำทางสำหรับพระองค์ให้ตรงไป" (มัทธิว 3:1-3) ยอห์นรู้ดีอย่างมากถึงบทบาทของตัวเอง แม้ยอห์นได้ทำผลงานอย่างดีเยี่ยมในการประกาศ แต่เขาก็ชัดเจนเสมอว่าเขามาเพื่อเตรียมทางให้กับผู้ที่สำคัญกว่าเขา และประกาศว่า"ภายหลังเราจะมีผู้หนึ่งทรงฤทธิ์อำนาจยิ่งกว่าเราเสด็จมา เราไม่คู่ควรแม้แต่จะถือฉลองพระบาทของพระองค์ พระองค์จะทรงให้ท่านทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ" (มัทธิว 3:11) ยอห์นยอมรับว่าเวลาของเขาแค่ชั่วคราว และพร้อมที่จะลดบทบาทลงเมื่อผู้ทรงฤทธิ์มาถึง 



ในขณะที่ยอห์นกำลังเตรียมทางและรอการมาของผู้ทรงฤทธิ์นั้น ภารกิจของพระเยซูก็เริ่มถูกกล่าวถึงกันมากขึ้น "กิตติศัพท์เรื่องนี้ของพระเยซูก็เลื่องลือไปทั่วแคว้นยูเดียและดินแดนโดยรอบ พวกสาวกของยอห์นมาเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านั้น" (ลูกา 7:17-18) รายงานของสาวกทำให้ยอห์นสนใจขึ้นมาว่าผู้นี้ใช่เป็นผู้ที่เขารอคอยหรือเปล่า จึง "ส่งเขาไปทูลถามองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “ท่านคือผู้ที่จะมานั้นหรือเราจะต้องคอยผู้อื่น?” (ลูกา 7:19) สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคืออะไรเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าพระเยซูคือผู้นั้น พระเยซูรู้ว่าตัวเองคือใครและพร้อมที่จะแสดงตัวให้ยอห์นรับรู้ สิ่งที่พระเยซูใช้พิสูจน์ว่าตัวเองคือผู้ทรงฤทธิ์ก็คือการประกาศ(ใช้ถ้อยคำ)เรื่องข่าวประเสริฐ และสิ่งอัศจรรย์เหนือธรรมชาติที่พระเยซูทำ(ใช้การงาน) "จงกลับไปรายงานสิ่งที่ท่านได้เห็นได้ยิน...คือคนตาบอดมองเห็นได้ คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกกลับได้ยิน คนตายแล้วเป็นขึ้นมา และข่าวประเสริฐได้ประกาศแก่คนยากไร้ " (ลูกา 7:22) การอัศจรรย์ที่พระเยซูทำเป็นการสาธิตถึงข่าวประเสริฐที่ได้ประกาศออกไป ข่าวประเสริฐจึงไม่ใช่แค่คำพูดอย่างเดียวแต่มีการงานหรือการกระทำที่แสดงออกมาตามคำพูดด้วย "เพราะข่าวประเสริฐของเรามาถึงท่านไม่ใช่เพียงด้วยถ้อยคำเท่านั้น แต่ด้วยฤทธิ์อำนาจ..." (1 เธสะโลนิกา 1:5) "...ข่าวประเสริฐคือฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า..." (โรม 1:6)

แม้พระเยซูในเวลานั้นเป็นตัวเป็นตนที่จับต้องได้มองเห็นได้  การพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นใครยังคือการประกาศข่าวประเสริฐที่มีการอัศจรรย์เหนือธรรมชาติมาสนับสนุน ไม่ใช่สิ่งอื่นหรือวิธืใดเลย ไม่ใช่ด้วยเรื่องตระกูล ไม่ใช่ว่ามาจากธรรมศาลาไหน ไม่ใช่ด้วยการศึกษา ไม่ใช่ด้วยจำนวนคนติดตาม ไม่ใช่ด้วยวาจา ไม่ใช่ด้วยเงินทอง แต่ด้วยการทำการอัศจรรย์เหนือธรรมชาติที่มาพร้อมกับการประกาศข่าวประเสริฐ ในยุคนี้เพราะเราเป็นพระกาย เพราะเราต่างมีพระคริสต์ในเรา ก็ยิ่งควรทำการอัศจรรย์เหนือธรรมชาติมากขึ้นอย่างที่พระคัมภีร์ได้บอกไว้ว่าเราจะทำ "เราบอกความจริงแก่พวกท่านว่า ผู้ที่เชื่อในเราจะทำสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เขาจะทำแม้กระทั่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีก" (ยอห์น 14:12) เพื่อมาแสดงถึงว่าพระเยซูคือพระผู้ช่วยให้รอด คือผู้ทรงฤทธิ์ และคือองค์พระผู้เป็นเจ้า 

ในหนังสือกิจการบันทึกการงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทำผ่านชีวิตของอัครฑูตและสาวกโดยที่ไม่มีพระเยซูอยู่กับเขาเป็นตัวเป็นตน พวกเขาประกาศข่าวประเสริฐและทำการอัศจรรย์อย่างที่พระเยซูทำ สิ่งที่น่าทึ่งอย่างมากคือไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่งที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ แต่กลายเป็นทั้งอัครฑูตและสาวกทุกคนทำได้หมด “ผู้ที่เชื่อจะมีหมายสำคัญดังนี้คือ เขาทั้งหลายจะขับผีออกโดยนามของเรา เขาจะพูดภาษาใหม่ๆ เขาจะจับงูด้วยมือเปล่า และเมื่อดื่มพิษร้ายเขาจะไม่เป็นอันตรายเลย เขาจะวางมือให้คนเจ็บคนป่วยและคนเหล่านั้นจะหายโรค” (มก 16:17,18) แม้คริสตจักรถูกข่มเหงและกระจัดกระจายไป สาวกทั้งหลายก็ยังประกาศข่าวประเสริฐในทุกหนทุกแห่งที่พวกเขาไปแม้อัครฑูตไม่ได้อยู่ด้วย การประกาศจึงเป็นวิถีชีวิตของพวกสาวกอย่างมาก “บรรดาผู้กระจัดกระจายไปนั้นก็เที่ยวประกาศพระวจนะในทุกแห่งหนที่พวกเขาไป” (กจ 8:4)


การทำการอัศจรรย์เหนือธรรมชาติที่มาพร้อมกับการประกาศข่าวประเสริฐจึงควรเป็นวิถีชีวิตของผู้เชื่อทุกคน เป็นสิทธิพิเศษที่พระเจ้าให้เราที่เป็นลูกได้ทำร่วมกับคุณพ่อในการให้ความรักของคุณพ่อออกไปเพื่อคนทั้งหลายจะได้รับชีวิตใหม่ ให้เราเชื่อและต้อนรับชีวิตใหม่นี้ แล้วใช้ชีวิตให้คนทั้งหลายได้ยินและมีประสบการณ์กับข่าวที่ประเสริฐจริงๆ ...


26 สิงหาคม 2559

: เลิกกลัวว่า ..พระเจ้าไม่รักได้แล้ว


ปฐมกาล 3:10 'เขาทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ยินเสียงของพระองค์อยู่ในสวนก็กลัว เพราะข้าพระองค์เปลือยกายอยู่ จึงหลบซ่อนตัวเสีย”' นี่คือเสียงขานรับของอาดัมต่อการเรียกหาของพระเจ้า หลังการล้มลงของมนุษย์ ความกลัวก็เริ่มเกิดขึ้น จากเหตุผลของอาดัม เราเข้าใจได้ว่าเขากลัวเพราะเขามองตัวเองเปลี่ยนไป มนุษย์เชื่อว่าตัวเองไม่ดีพอที่พระเจ้าจะมายอมรับเขา มนุษย์จึงกลัวพระเจ้าจะปฏิเสธและลงโทษพวกเขาถึงขนาดไม่กล้าเข้าหาพระเจ้า

ความกลัวเป็นอารมณ์ที่มีคำโกหกว่าในอนาคตจะมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น คนที่ตกอยู่ในความกลัวจะเชื่อคำโกหกว่าสิ่งที่ยังไม่เกิดนั้นเป็นจริง เหตุฉะนั้นจึงพยายามใช้ชีวิตปัจจุบันในทางที่คิดว่าจะไม่ให้สิ่งที่กลัวนั้นบังเกิดขึ้น บางครั้งก็ใช้เวลาและกำลังเยอะมากที่พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ยังหรืออาจไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เรากลัวกลายเป็นตัวกำหนดชีวิตปัจจุบันของเรา จากเหตุการณ์ที่มนุษย์ล้มลง คือการที่มนุษย์เชื่อมารผ่านการเลือกที่จะให้คุณค่าตัวเองด้วยการกระทำของตัวเอง มนุษย์เริ่มเชื่อว่าตัวตนแท้ที่พระเจ้าสร้างมานั้นไม่ดีพอและอายต่อตัวเอง ถึงขั้นที่เชื่อว่าพระเจ้าก็ไม่สามารถยอมรับได้ และยิ่งกว่านั้นมนุษย์เชื่อว่าพระเจ้าจะลงโทษพวกเขา โดยลืมไปว่าพระเจ้าเป็นพระเจ้าที่ "องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเปี่ยมด้วยพระคุณและความเอ็นดูสงสาร ทรงกริ้วช้า และเปี่ยมด้วยความรักมั่นคง" (สดุดี 145:8) ความกลัวของอาดัมทำให้เขาหลบซ่อนตัวจากพระเจ้าแม้พระเจ้ากำลังเรียกหา เขากลัวว่าพระเจ้าจะปฏิเสธเพราะเขาไม่ดีพอ ถ้าเราสังเกตุเหตุผลที่หลบ อาดัมอ้างว่าเป็นเพราะเขามองตัวเอง"เปลือยกายอยู่" เขาไม่เข้าใจเลยว่าเขาได้ทำผิด ตั้งแต่นั้นมนุษย์ก็จมอยู่กับความอายต่อตัวเอง และจมอยู่ในความกลัว เชื่อว่าตัวเองไร้ค่าบวกกับความกลัวว่าผู้อื่นจะไม่ยอมรับ จากปฐมกาลเราเห็นได้ว่าสองสิ่งนี้เป็นตัวทำร้ายความสัมพันธ์โดยทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่กล้าเข้าใกล้อีกฝ่ายหนึ่งหรือเข้าลึกในความสัมพันธ์เพราะกลัวอีกฝ่ายเจอตัวตนแล้วจะปฏิเสธ เพราะความกลัวนี้เราไม่สามารถเป็นตัวจริงได้ บางคนถึงขั้นต้องสร้างบางสิ่งบางอย่างที่เห็นและจับต้องได้ มาปกปิดหรือสร้างตัวตนปลอมที่ตัวเองคิดว่าทำให้ตัวเองมีค่าขึ้นมา แต่สิ่งเหล่านั้นก็ช่างเป็นสิ่งชั่วคราวที่ต้องหามาอยู่เรื่อยๆ เหมือนในปฐมกาลที่มนุษย์ต้องเอาใบไม้มาปกปิดหรือสร้างภาพให้ตัวเองดูดี ซึ่งใบไม้นั้นช่างเป็นอะไรที่ชั่วคราวจริงๆ


จากผลของอาดัมคนแรก มนุษย์ก็ตกอยู่ในความกลัวมาตลอด โดยเฉพาะกลัวพระเจ้าและอยู่ในวังวนแห่งการสร้างคุณค่าให้ตัวเองเพื่อหวังว่าวันหนึ่งจะดีพอที่พระเจ้าจะยอมรับได้ ความกลัวนี้ทำให้มนุษย์มองพระเจ้าเป็นศัตรูไม่ใช่เป็นคุณพ่ออีกต่อไป "ครั้งหนึ่งพวกท่านเคยแยกขาดจากพระเจ้าและเป็นศัตรูกับพระองค์อยู่ในใจเพราะพฤติการณ์ชั่วของท่าน" โคโลสี 1:21 ซึ่งมนุษย์เองก็ไม่สามารถพาตัวเองหลุดจากวังวนนี้แม้การทำตามบัญญัติก็ไม่สามารถไปถึงความชอบธรรมหรือดีพอได้ แต่ก็ด้วยบัญญัติที่พระเจ้าให้มา มนุษย์ได้เห็นถึงความบาปในตัวเองและยอมรับว่าไม่สามารถถูกนับเป็นผู้ชอบธรรมโดยการกระทำได้ บัญญัติจึงเป็นตัวช่วยที่จะนำพามนุษย์มาถึงความชอบธรรมโดยความเชื่อผ่านพระเยซูผู้เป็นอาดัมที่สอง "ดังนั้นบทบัญญัติได้รับมอบหมายหน้าที่ให้นำเรามาถึงพระคริสต์ เพื่อเราจะได้ถูกนับเป็นผู้ชอบธรรมโดยความเชื่อ" กาลาเทีย 3:24 เพราะมนุษย์ได้ถูกนับเป็นผู้ชอบธรรม พระเจ้าได้ให้มนุษย์คืนดีกับพระเจ้าได้ "แต่บัดนี้ทรงให้ท่านคืนดีกับพระองค์โดยการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ เพื่อถวายท่านให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากตำหนิ และพ้นจากข้อกล่าวหาต่อหน้าพระองค์" 

โคโลสี 1:22 ผลแห่งการคืนดีนั้น มนุษย์ได้กลับไปสู่ความสัมพันธ์ดั้งเดิมกับพระเจ้าก่อนล้มลง มนุษย์จึงไม่ต้องกลัวพระเจ้าอีกต่อไป เพราะพระเยซูทำให้เรากลายเป็นลูกสุดที่รักของพระบิดา พระบิดามีแต่ยอมรับเรา รักเรา อยู่ข้างเราเสมอ "ท่านไม่ได้รับวิญญาณซึ่งทำให้ท่านเป็นทาสของความกลัวอีก แต่ท่านได้รับพระวิญญาณผู้ทำให้ท่านเป็นบุตรของพระเจ้า และโดยพระองค์ เราร้องว่า “อับบา พ่อ” " โรม 8:15 


นี่คือข่าวดี คือเราสามารถหยุดวังวนที่จะเป็นคนที่ดีพอสำหรับพระเจ้าโดยตัวเราเองได้ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือผู้เชื่อในพระเยซูทุกคนสามารถใช้ชีวิตที่เป็นคนที่ดีพอเสมอสำหรับพระเจ้าเพราะพระเยซู ไม่ต้องกลัวพระเจ้าอีกต่อไป




26 กรกฎาคม 2559

: ชีวิตในการพักผ่อน


หลังจากการสร้างโลก "พระเจ้าทอดพระเนตรทุกสิ่งที่ทรงสร้างขึ้น ทรงเห็นว่าดียิ่งนัก" (ปฐมกาล 1:31) พระเจ้าได้ใช้เวลามาชื่นชมทุกสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา และพร้อมกับการชื่นชมพระเจ้าก็ใช้วันต่อมาทั้งวันมา "หยุดพักจากพระราชกิจทั้งปวงของพระองค์" (ปฐมกาล 2:2) การหยุดพักนี้ไม่ใช่หยุดเพราะเหนื่อย แต่เป็นการหยุดจากการงานสร้าง เพราะทุกอย่างที่ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้านั้น"ดียิ่งนัก" หรือ สมบูรณ์ไม่มีที่ติ ไม่ต้องมีการเพิ่มเติมหรือแก้ไข และในวันที่เจ็ดพระเจ้าได้ "...ทรงอวยพรวันที่เจ็ดและทรงตั้งขึ้นเป็นวันบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์..." (ปฐมกาล 2:3) ความบริสุทธิ์คือการถูกแยกออกมาให้พระเจ้า วันที่มายอมรับกันว่าทุกสิ่งรวมถึงชีวิตเราล้วนมาจากพระเจ้าซื่งเป็นทั้งผู้จัดเตรียมและจัดสรร เป็นวันเวลาที่เราต่างมาชื่นชมกับการงานของพระเจ้าว่าเป็นการงานที่สมบูรณ์และเพียงพอ เป็นวันที่เราสามารถพักผ่อนหรือใชัชีวิตอยู่บนผลของการงานของพระเจ้าที่ทำสำเร็จแล้ว นี่คือวันสะบาโตแรกที่พระเจ้าได้มอบให้กับมนุษย์ “วันสะบาโตมีขึ้นเพื่อมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์มีขึ้นเพื่อวันสะบาโต" (มาระโก 2:27)

หนังสืออพยพได้บันทึกว่าอิสราเอลได้ถือรักษาวันสะบาโตมาตลอด เช่นในเวลาที่พระเจ้าส่งมานาลงมาให้อิสราเอล โมเสสบอกกับพวกอิสราเอลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่า ‘ให้พรุ่งนี้เป็นวันแห่งการหยุดพักคือวันสะบาโตอันบริสุทธิ์แด่องค์พระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นวันนี้จงปิ้งหรือต้มอาหารไว้ตามความต้องการ แล้วเก็บส่วนที่เหลือไว้จนรุ่งเช้า’ดังนั้นพวกเขาจึงเก็บอาหารไว้จนรุ่งเช้าตามที่โมเสสสั่งไว้ และอาหารนั้นก็ไม่เน่าเหม็นและไม่มีหนอน โมเสสกล่าวว่า “นี่เป็นอาหารของท่านสำหรับวันนี้ เพราะวันนี้เป็นวันสะบาโตแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านจะไม่พบอาหารตามพื้นดินในวันนี้ ตลอดหกวันท่านจงเก็บอาหาร แต่วันที่เจ็ดเป็นวันสะบาโต จะไม่มีอาหารให้เก็บ”(อพยพ 16:23-26) วันสะบาโตถูกย้ำถึงการจัดเตรียมและการงานของพระเจ้าที่สมบูรณ์เพื่อให้เรามาชื่นชมโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมาเพิ่มเติม ยิ่งไปกว่านั้น ใน ฉธบ.5:12-14   "จงรักษาวันสะบาโต....จะได้พัก" วันสะบาโตเป็นหนึ่งในบัญญัติที่พระเจ้าสั่งไว้ให้รักษา พระเจ้าได้อธิบายต่อว่าทำไมอิสราเอลควรรักษาวันสะบาโต "จงระลึกว่าพวกเจ้าเคยเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ และพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้านำเจ้าออกมาโดยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์และพระกรที่เหยียดออก ฉะนั้นพระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าจึงทรงบัญชาให้เจ้ารักษาวันสะบาโต" (ฉธบ. 5:15) วันสะบาโตจึงเป็นวันที่ให้มายอมรับถึงการงานที่พระเจ้าได้ทำสำเร็จแล้วเพื่ออิสราเอลจะได้พัก และไม่ต้องอยู่แบบทาสอีกต่อไปที่ต้องพึ่งการงานของตัวเองเพื่อให้อยู่รอด สุดท้ายในยุคพระคัมภีร์เดิม วันสะบาโต "...เป็นพันธสัญญานิรันดร์..." (อพย.31:16) เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าวันสะบาโตเป็น "...หมายสำคัญระหว่างเรากับเจ้าสืบไปทุกชั่วอายุ เพื่อเจ้าจะรู้ว่าเราคือพระยาห์เวห์ผู้ทำให้เจ้าบริสุทธิ์" (อพย. 31:13)

ฮีบรู 10:1 "บทบัญญัติเป็นแต่เพียงเงาของสิ่งประเสริฐซึ่งจะมาถึง ไม่ใช่ของจริง เพราะเหตุนี้จึงไม่สามารถทำให้ผู้เข้าเฝ้านมัสการสมบูรณ์..." โคโลสี 2:16-17 "เพราะฉะนั้นอย่าให้ใครมาตัดสินท่านจากสิ่งที่ท่านกินหรือดื่มหรือเกี่ยวกับเทศกาลทางศาสนา ไม่ว่าวันฉลองขึ้นหนึ่งค่ำหรือวันสะบาโต สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของสิ่งที่จะมาภายหลัง ส่วนความจริงแท้พบอยู่ในพระคริสต์" บัญญัติในยุคพระคัมภีร์เดิมรวมถึงวันสะบาโตล้วนเป็น"เงาของสิ่งที่จะมาภายหลัง ส่วนความจริงแท้พบอยู่ในพระคริสต์" ทุกบัญญัติชี้ไปถึงพระเยซู ชี้ถึงพระเยซูว่าเป็นใคร ชึ้ถึงการงานของพระเซู ชี้ถึงผลของการงานของพระเยซูที่มีต่อทุกสรรพสิ่ง บัญญัติทั้งหลายที่ทำในกายภาพก็สำเร็จเป็นนิรันดร์ในพระเยซู เช่นการถวายเครื่องบูชาในพันธสัญญาเดิมที่ต้องถวายซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกๆ ปีไม่มีสิ้นสุด การถวายนี้สุดท้ายก็ชี้ถึงว่าพระเยซูเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์และเป็นจริง พระเยซูจึง"...ถวายพระกายของพระเยซูคริสต์เป็นเครื่องบูชาเพียงครั้งเดียวเป็นพอ" (ฮีบรู 10:10) "เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลาย ในเมื่อเรามั่นใจที่จะเข้าสู่อภิสุทธิสถานโดยพระโลหิตของพระเยซู โดยหนทางใหม่อันมีชีวิตซึ่งเปิดให้เราผ่านม่านคือพระกายของพระองค์" (ฮีบรู 10:19-20) เราจึงหยุดถวายเพราะพระเยซู และทุกคนที่เชื่อก็ถูกอภัยบาปทั้งสิ้น "...เมื่อทรงอภัยบาปให้แล้วก็ไม่ต้องมีการถวายเครื่องบูชาสำหรับไถ่บาปอีกเลย" บัญญัติทั้งหลายจึงสำเร็จในพระเยซู


วันสะบาโตก็เป็นเงาที่ช่วยชี้ไปถึงความจริงในพระเยซูเช่นกัน วันสะบาโตจึงเปลี่ยนจากกายภาพเป็นนิรันดร์ วันสะบาโตจึงไม่ใช่เป็นวันใดวันหนึ่งในสัปดาห์อีกต่อไปแต่เป็นสถานภาพที่ผู้เชื่อมีชีวิตที่พักผ่อนเพราะพระเยซูได้ทำทุกอย่างเพื่อเราแล้ว ได้ทำทุกอย่างเพื่อเราทั้งหลายสามารถกลับมาอยู่กับพ่อ การใช้ชีวิตในสะบาโตแห่งการพักสงบก็เหมือนกับสะบาโตแรก คือมาชื่นชมในการงานของพระเจ้า โดยเฉพาะที่พระเยซูได้ทำไว้บนกางเขนและการเป็นขึ้นจากความตาย ซึ่งเป็นการงานที่สมบูรณ์ไม่มีที่ติ ที่มนุษย์เราไม่สามารถเพิ่มเติมอะไรได้ เราจึงหยุดจากการกระทำที่คิดว่าจะช่วยให้เราดีพอต่อพระเจ้า ให้เราเชื่อว่าการตายบนไม้กางเขนและการเป็นขึ้นเพียงพอแล้วสำหรับให้เราทุกคนที่เป็นผู้เชื่อได้เป็นผู้ชอบธรรมและบริสุทธิ์ หรือดีพอเสมอสำหรับพระเจ้า ทั้งหมดเป็นเพราะพระเยซู เราแค่เชื่อวางใจและใช้ชีวิตตามผลของการงานของพระเจ้า ดังนั้น บนกางเขนพระเยซูจึงพูดออกมาว่า “สำเร็จแล้ว” .....








23 กรกฎาคม 2559

: จุดหมายที่พระเจ้าให้มีธรรมบัญญัติ ความหมายของบาป และข่าวดีของพระเยซู

อ้างอิงบทความที่แล้วนะครับที่ผมเขียนเรื่องความหมายของ "บาป" วันนี้จะมาเจาะจงเรื่องธรรมบัญญัติอย่างเดียวเลยนะครับว่า มันคืออะไร .. เพื่ออะไร...

เกริ่นง่ายๆว่าหลังจากอาดัมและเอวาพลาดในการไม่เชื่อฟังพระเจ้าในสวนเอเดน ซึ่งเป็นที่แรกที่ "บาป" เริ่มถูกระบุตัวตนใน ปฐมกาล 4:7 ว่าหากคาอินทำไม่ดี "บาป" ก็รอเล่นงานอยู่ และเป็นจุดเริ่มต้นที่พระคัมภีร์บอกว่าเราในรุ่นต่อๆมาตกอยู่ภายใต้อานุภาพของมาร 1 ยอห์น 5:19 "เรารู้ว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้าและทั่วทั้งโลกอยู่ใต้การควบคุมของมารร้าย"  ไอ้คำว่า "การควบคุมของมารร้าย" นี่แหละครับที่ผมบอกว่ามันเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า"บาป"


มนุษย์ไม่ตระหนักว่าฤทธิ์อำนาจการควบคุมของมารที่เรียกว่า "บาป" มีอยู่จริง มนุษย์รุ่นต่อๆมาก็ได้สร้างศาสนาและให้มีศีลต่างๆเพื่อตัวเองจะได้ทำตามและให้การกระทำนั้นยกระดับตัวเองให้ใกล้พระเจ้ามากขึ้น ส่วนคนยิวที่เชื่อว่าตัวเองนั้นเป็นชนชาติพิเศษอยู่แล้วนั้น พระเจ้าฉลาดมากครับวางแผนแยบยลจะช่วยคนยิวโดยการให้มีบัญญัติ. และเป็นบัญญัติที่เยอะด้วยจำนวนและความยาก คนยิวก็เชื่อแบบหัวปักหัวปำว่าตัวเองต้องทำได้  ปรากฎว่าจริงๆแล้วแม้แต่คนยิวก็ทำตามบัญญัติไม่ได้และล้มเหลวในการติดตามพระเจ้าและหันไปทำบาปนับครั้งไม่ถ้วน ข้อที่ง่ายที่สุดว่าอย่าหันไปไหว้พระอื่น ก็ยังทำไม่ได้  แต่เขาก็ยังพยายามทำต่อกันมาเรื่อยๆครับ และหวังว่าจะทำได้

โรม 3:20 "ฉะนั้นไม่มีใครได้ชื่อว่าเป็นผู้ชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้าโดยการรักษาบทบัญญัติ บทบัญญัติเพียงแต่ทำให้เรารู้ตัวว่ามีบาป"
โรม 7:13 "ก็แล้วสิ่งที่ดีงามกลับเป็นความตายสำหรับข้าพเจ้าหรือ เปล่าเลย! แต่เพื่อให้รู้จักว่าบาปคือบาป บาปจึงก่อความตายขึ้นในข้าพเจ้าผ่านทางสิ่งที่ดี เพื่อว่าโดยทางพระบัญญัติจะได้เห็นว่าบาปนั้นเลวร้ายอย่างยิ่ง"

เปาโลบอกในหนังสือโรมชัดเจนครับว่าบัญญัติมีไว้เพื่อเปิดโปงงานของมารที่เรียกว่า "บาป" ว่ามีอยู่จริง วิธีที่พระเจ้าใช้คือให้มีบัญญัติที่เรียกว่ากฎที่ให้ชีวิต แต่มนุษย์จะพยายามอย่างไรก็ทำตามไม่ได้ แล้วเขาจะมาถึงจุดที่ค้นพบว่าฤทธิ์อำนาจของมารที่เรียกว่า "บาป" มีอยู่จริง และจะมาถึงจุดที่ต้องการให้พระเยซูเข้ามาช่วยปลดปล่อยจากงานของมารและเป็นอิสระจาก "บาป"


สรุป 1 ครับ บัญญัติของยิวหรืออาจบอกได้ว่าศีลต่างๆที่พระเจ้าให้มีขึ้นนั้นจุดหมายมิใช่เพื่อให้เราทำให้ได้ จุดหมายจริงๆเพื่อเปิดโปงงานของมารที่เรียกว่า"บาป"

สรุป 2 ความหมายของคำว่าบาปที่เปาโลกล่าวถึงไม่ได้หมายถึงการละเมิด แต่หมายถึงมารและการงานของมารโดยตรงครับ

สรุป 3 พระเยซูเข้ามาอยู่ในเราที่เชื่อ บัญญัติได้ถูกจารึกในเรา เรามี พระเยซูอยู่ข้างใน และเป็นอิสระจาก"บาป"และมารแล้ว นี่คือข่าวดี

ขอพระเจ้าอวยพร สวัสดี
หมื่นลี้



21 กรกฎาคม 2559

: อะไรช่วยให้คริสตจักรเติบโต


จากเอเฟซัส 4:11,12 "พระองค์เองทรงให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์ เพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้าสำหรับงานรับใช้ เพื่อว่าพระกายของพระคริสต์จะได้รับการเสริมสร้างขึ้น"

นี่เป็นพระคัมภีร์ที่คนทั่วไปเข้าใจกันว่าพระเจ้าได้ให้ 5 "ตำแหน่ง" สำคัญในโบสถ์เพื่อช่วยให้คริสตจักรเติบโตขึ้น แต่นอกเหนือกจาก 5 ตำแหน่ง หรือ ขอใช้คำว่า”หน้าที่”นี้แล้ว จากพระคัมภีร์ โรม 12:4-8 ที่เกี่ยวกับของประทานก็ได้พูดถึงหน้าที่หรือตำแหน่งอื่นๆด้วย เช่น การเผยพระวจนะ การสั่งสอน การปรนนิบัติรับใช้ การให้กำลังใจ การช่วยเหลือในสิ่งที่ผู้อื่นขัดสน ฯลฯ ซึ่งทุกหน้าที่บทบาทล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ "เพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้าสำหรับงานรับใช้ เพื่อว่าพระกายของพระคริสต์จะได้รับการเสริมสร้างขึ้น" 
การมีตำแหน่งก็มีข้อดีในเวลาที่เหมาะสม เช่น ในคริสตจักรบางทีก็พูดถึงตำแหน่ง เช่น "ผู้นำนมัสการ" หรือ "ผู้นำประชุม" หรือ “ผู้เทศนาแบ่งปัน" เพื่อการชัดเจนในการรับผิดชอบ ซึ่งผู้ที่อยู่ในแต่ละตำแหน่งเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและเวลา บางคนอาจอยู่ในตำแหน่งนานโดยไม่มีการผลัดเปลี่ยน 

คำถามสำคัญคือ อะไรเป็นตัวตัดสินใจว่าเราควรให้ตำแหน่งกับใครในเวลาไหน ในโรม 12:4-8 จะพูดเสมอว่า "...ถ้าผู้ใดมีของประทานด้าน..." นั่นชี้ถึงว่าคนที่มีของประทานน่าจะมีวิถีชีวิตที่แสดงบทบาทหรือหน้าที่ของของประทานนั้นออกมาจนคนอื่นๆเห็นได้ จากนั้นพระคัมภีร์ได้พูดต่อว่า "...ก็ให้ผู้นั้นใช้ของประทานนี้..." คำว่า "ก็ให้" หมายถึงหลังจากรู้ว่าใครมีของประทานแล้ว ก็ให้คริสตจักรยอมรับคนนั้น(อาจด้วยตำแหน่ง)และสนับสนุนให้ทำหน้าที่หรือบทบาทให้เต็มที่ นอกจากความสามารถแล้ว 

อีกสิ่งหนึ่งที่คริสตจักรต้องคำนึงก่อนให้การยอมรับหน้าที่เขา คือสภาพหัวใจของเขาที่พระคัมภีร์ได้พูดไว้ใน โรม 12:9-10 คือมีหัวใจที่รักพี่น้องด้วยใจจริง หรือแบบง่ายๆคือใส่ใจพี่น้อง ฉะนั้นในทางตรงข้ามถ้าเขาไม่ได้แสดงหรือใช้ของประทานเป็นวิถีชีวิต และหรือ สภาพหัวใจมีปัญหาที่จะรักพี่น้อง คงต้องมาช่วยคนๆนั้นและหวังว่าคนนั้นจะยอมรับและขอความช่วยเหลือให้หลุดจากสภาพเพื่อเขาจะสามารถทำหน้าที่ได้ดีอีกครั้งหนึ่ง แต่บางครั้งหากจำเป็นก็อาจจะต้องให้เขาหยุดบทบาทของเขาเพื่อเหตุผลต่างๆ เช่น เพื่อการรักษาเยียวยา เพื่อมีเวลาพักผ่อน ฯลฯ


ของประทานฯทั้งหมดเห็นได้ว่าเป็นของประทานที่ทั้งช่วยให้คริสตจักรดูแลสร้างสาวกผู้เชื่อ และนำข่าวดีออกไป ตามมัทธิว 28:19-20 "ดังนั้นจงไปสร้างสาวกจากมวลประชาชาติ ให้เขารับบัพติศมาใน พระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้เชื่อฟังทุกสิ่งที่เราสั่งพวกท่านไว้ และแน่นอน เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไปตราบจนสิ้นยุค" คริสตจักรเป็นตัวแทนของพระเจ้าบนโลก ชีวิตที่เรามีพระคริสต์อยู่ในเราควรเป็นชีวิตที่นำข่าวดีหรือการครอบครองของพระเจ้าไปสู่คนทั้งหลาย หน้าที่การ"เผยแพร่ข่าวประเสริฐ" และ การ"เป็นอัครทูต" (การส่งคนออกไปเผยแพร่ข่าวประเสริฐ) จึงเป็นหน้าที่หรือบทบาทที่สำคัญ เพราะสองหน้าที่นี้นำคนมาในครอบครัวของพระเจ้า แล้วหน้าที่อื่นๆค่อยตามมาภายหลัง 

พระคัมภีร์ได้พูดชัดมากว่าการให้คนเล่นบทบาทหรือทำหน้าที่ตามของประทานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขยายแผ่นดินพระเจ้าบนโลกผ่านคริสตจักร ข่าวดีคือพระเจ้าได้ให้ของประทานกับคริสตจักรแล้ว สิ่งที่เราสามารถตอบสนองได้คือเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเล่นบทบาทหรือทำหน้าที่ที่ช่วยให้คริสตจักรเติบโตได้  ไม่ใช่แค่คนบางคนเท่านั้นที่มีส่วน จากนั้นก็ให้เราสนใจคนอื่นๆทั้งในและนอกคริสตจักรเพื่อที่เราจะช่วยเหลือเขาได้ในเวลาที่เขาต้องการ จากการใช้ชีวิตอย่างนี้ให้เป็นวิถีชีวิต ของประทานเราก็จะเด่นชัดขึ้นเอง  





5 มิถุนายน 2559

: ใช้ชีวิตให้ถูกยุค ep 3

ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นภาพผู้ใหญ่เอาสิ่งของมีค่ามาถวายให้สิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 
อีกนัยหนึ่งการที่เรามองสิ่งใดศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นเพราะเราเชื่อว่าเราไม่ศักดิ์สิทธิ์ เราเป็นมลทินและสิ่งนั้นมีอำนาจและพลังเหนือกว่าเรา ยิ่งไปกว่านั้นเราเข้าใจว่าถ้าเราอยากได้อะไรดีๆเราต้องเอาใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นด้วยการถวายเครื่องบูชา และหรือประพฤติตามคำสอนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ  บางครั้งเราก็เข้าใจไปด้วยว่าเมื่อเราทำสิ่งเหล่านั้นเราจะเริ่มเป็นคนศักดิ์สิทธิ์เหมือนสิ่งที่เราบูชา ในกรอบความคิดแบบนี้ยิ่งส่งเสริมให้ถวายมากขึ้นทำมากขึ้น เพราะความเข้าใจกำลังบอกว่ายิ่งให้ออกไปมากหรือยิ่งเสียสละมาก เราก็จะยิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้น และความศักดิ์สิทธิ์ก็กลายเป็นเหตุผลที่บอกกับตัวเองว่า เราเป็นคนพิเศษ และเราสมควรได้สิ่งดีๆจากสิ่งที่เราบูชา แต่ถ้ามองให้ดีๆแล้ว การถวายเครื่องบูชาเป็นระบบที่อยู่บนการแลกเปลี่ยนโดยสิ่งตอบแทนที่ได้มาก็จะตามความคู่ควรจากการกระทำของเรา 

ตั้งแต่การล้มลงของอาดัมคนแรก มนุษย์เริ่มคุ้นเคยกับระบบถวายเครื่องบูชา และเมื่อพระเจ้าให้บัญญัติแก่ชาวอิสราเอลโดยมีพระเจ้าเป็นผู้รับการบูชา บัญญัติก็เริ่มทำหน้าที่ผลักดันการถวายเครื่องบูชาไปถึงสุดขีดภายใต้บริบท  ฮีบรูบทที่10:1 บอกไว้ว่า “บัญญัติเป็นแต่เพียงเงาของสิ่งประเสริฐซึ่งจะมาถึง ไม่ใช่ของจริง.. เพราะเหตุนี้จึงไม่สามารถทำให้ผู้เข้าเฝ้านมัสการสมบูรณ์พร้อมด้วยเครื่องบูชาเดิมๆ ซึ่งถวายซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกๆ ปีไม่มีสิ้นสุด" อีกหน้าที่หนึ่งของการถวายเครื่องบูชาภายใต้บัญญัติคือการเตรียมมนุษย์ให้มารับความจริงหรือเครื่องบูชาที่แท้จริง ซึ่งเป็นเครื่องบูชาที่ไม่ได้จัดเตรียมโดยมนุษย์อย่างในช่วงบัญญัติ ส่วนเครื่องบูชาเองก็ไม่ใช่สัตว์ที่ถูกพระเจ้าสร้างขึ้นมาแต่เป็นบุตรของพระเจ้าเองที่ลงมาจากสวรรค์ การถวายเครื่องบูชาที่แท้จริงจึงสามารถไถ่บาปเราได้หมดทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต ไม่ต้องถวายซำ้แล้วซำ้เล่าอีก อย่างที่บอกไว้ใน ฮีบรู 10:10 "และโดยพระประสงค์นี้เราทั้งหลายจึงได้รับการทรงชำระให้บริสุทธิ์ โดยการถวายพระกายของพระเยซูคริสต์เป็นเครื่องบูชาเพียงครั้งเดียวเป็นพอ"


ฮีบรู 10:9 "พระองค์ทรงยกเลิกระบบแรกเพื่อตั้งระบบที่สอง" เพราะการตายนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของพันธสัญญาใหม่และจุดสิ้นสุดของระบบเดิม และในระบบใหม่นี้มีความจริงอย่างหนึ่งที่การตายของพระเยซูได้ทำสำเร็จไว้คือการหมดยุคแห่งการถวายเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาป เนื่องจากพระเยซูเป็นเครื่องบูชาที่แท้จริงและสมบูรณ์ที่สุด ฮีบรู 10:18 "เมื่อทรงอภัยบาปให้แล้วก็ไม่ต้องมีการถวายเครื่องบูชาสำหรับไถ่บาปอีกเลย" เราจึงไม่ต้องหาอะไรหรือคิดว่าจะต้องทำอะไรเพื่อให้เราบริสุทธิ์ในพระเจ้า เวลาใดที่เราคิดหรือรู้สึกว่าเราบริสุทธิ์มากขึ้นเพราะได้ทำหรือเสียสละะบางอย่างไป เรากำลังบอกว่าการกระทำของเรามีค่ามากกว่าการตายบนไม้กางเขนของพระเยซูซึ่งเท่ากับเป็นท่าทีที่เย่อหยิ่ง



สุดท้าย ขอให้เรายอมรับความจริงและใช้ชีวิตบนความจริงนี้ที่ว่าเราเป็นคนบริสุทธิ์เพราะสิ่งที่พระเยซูได้ทำสำเร็จแล้วบนไม้กางเขน ไม่ใช่ด้วยการกระทำของเราเลย....นี่คือข่าวดี




: ความหมายของ "บาป"



วันนี้ นึกถึงคำนี้นะครับ "บาป" เป็นคำที่เราคุ้นเคยกัน แต่เวลาเราอ่านพระคัมภีร์เคยมีคำถามไหมครับว่าคำนี้เป็นแบบที่เราคิดว่าเข้าใจหรือเปล่า ผมบอกได้เลยครับว่าคำนี้เราเอามาจากศาสนาอื่นๆ ลองมาดูไหมครับว่าคำว่า "บาป" ในพระคัมภีร์ของคริสเตียน จริงๆแล้วพูดอย่างไร และพระเยซูทำอย่างไรกับไอ้สิ่งที่ชื่อ"บาป"

1.  ความเชื่อทั่วๆไปที่คริสเตียนก๊อปมาจากศาสนาอื่น คือว่า "บาป" คือการทำผิดกฎ ผิดศีล ผิดบัญญัติ ใครที่เชื่อแบบนี้ ลองอ่านต่อไปนะครับ ความคิดผม ผมว่าเราเชื่อผิดมาตลอด เรายืมเอาคำของศาสนาอื่นมาใช้และเราเอาความหมายของเขามาด้วย  แต่ดูเหมือนพระคัมภีร์กล่าวอีกอย่างครับ ก็เตรียมโยนความเข้าใจแบบเดิมๆทิ้งถังขยะได้เลยครับ ลองอ่านต่อนะ ยาวนิดหนึ่งแต่อ่านเถอะ

2. บาป" ปรากฎอยู่หลายตอนในทั้งพระคัมภีร์เดิมและใหม่ ซึ่งถ้าอ่านดูดีๆ จะพบว่าความบาปมีลักษณะความเป็นบุคคล หรือเป็นพลัง หรือเป็นมวลสาร บางอย่าง สามารถกระทำการบางอย่างได้ด้วยตัวเอง มีตัวตน มีพลังในการครอบงำคนได้ และสามารถมีอิทธิพลทำให้มนุษย์ทำกิจกรรมที่เรียกว่าความบาป หรือมีรูปแบบชีวิตที่เรียกว่าวิสัยบาป (กาลาเทีย 5: 13-21) มันแปลว่าอะไรครับ แปลว่า"บาป" ไม่ใช่เรื่องการทำผิดบัญญัติหรือศีลแบบที่เชื่อกัน แต่ความ "บาป" แสดงตัวเป็นบุคคลชัดเจน เช่น

ปฐมกาล 4:7 "...หากเจ้าทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง บาปก็หมอบอยู่ที่ประตูคอยเล่นงานเจ้า แต่เจ้าจะต้องชนะบาป" ในที่นี้เราพบบาปที่ดำรงค์อยู่ตั้งแต่ยุคแรกๆของโลกก่อนที่จะมีศีลหรือบัญญัติหรือหลักความดีความชั่ว "บาป" สามารถหมอบคอยเล่นงานคนได้ด้วย "บาป" สามารถแพ้และชนะได้ และที่สำคัญสิ่งๆนี้หรือบุคคลนี้อยู่มาตั้งแต่ยุคแรกของโลก

รม 5:12 "บาปเข้ามาในโลกเพราะมนุษย์คนเดียว และบาปนำความตายมา และโดยทางนี้เองความตายจึงมาถึงมวลมนุษย์เพราะทุกคนได้ทำบาป" บาปสามารถเคลื่อนตัวเข้ามาในโลกได้และพาเพื่อนที่ชื่อความตายมาด้วย เพราะมนุษย์ทำกิจกรรมที่เรียกว่าบาป 

โรม 6: 17 "แต่ขอบคุณพระเจ้าที่แม้ท่านเคยเป็นทาสของบาป..." บาปสามารถทำตัวเป็นเจ้านายและทำคนให้เป็นทาสได้

และยังมีอีกหลายๆข้อในพระคัมภีร์โรมที่ชี้ชัดว่า"บาป" ไม่ใช่หลักการเรื่องการทำผิดบัญญัติ แต่หมายถึง พลังงานบางอย่าง มีความเป็นบุคคล เป็นฤทธิ์อำนาจบางอย่าง ที่อยู่มาตั้งแต่ยุคแรกของโลก และมีอำนาจในการครอบงำมนุษย์ให้ทำกิจกรรมบาป หรือตกอยู่ในความอ่อนแอที่เรียกว่าวิสัยบาป

3. หน้าที่ของธรรมบัญญัติ คืออะไรครับบางคนบอกว่า ธรรมบัญญัติมีให้เราทำเพื่อเราจะมีชีวิตที่บริสุทธิ์กับพระเจ้า ผิดครับ ไอเดียดังกล่าวมาจากศาสนาอื่นอีกแล้วครับ ลองดูพระคัมภีร์เหล่านี้ด้วยกัน ธรรมบัญญัติมีเพื่ออะไร!

โรม 3:20 "ฉะนั้นไม่มีใครได้ชื่อว่าเป็นผู้ชอบธรรมในสายตาของพระเจ้าโดยการรักษาบัญญัติ บทบัญญัติเพียงแต่ทำให้เรารู้ตัวว่ามีบาป"  หน้าที่ของบัญญัติคือที่มนุษย์จะรู้ว่าทำอย่างไรก็ทำตามบัญญัติไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่มีแค่บัญญัติกับพระเจ้าเท่านั้น แต่มีบุคคลที่สามซึ่งเป็นพลังงานหรือบุคคลที่เรียกว่า "บาป" ออกฤทธิ์อยู่เบื้องหลัง มนุษย์จึงไม่สามารถทำตามบัญญัติได้ เมื่อมนุษย์ทำตามบัญญัติไม่ได้ ไอ้ฤทธิ์อำนาจนี้ที่เรียกว่า "บาป" จะถูกเปิดโปงว่ามีตัวตนอยู่จริง และเมื่อนั้นเราต้องการพระคุณพระเยซูที่ตายบนไม้กางเขนเพื่อเราปลดปล่อยเราจาก "บาป"
ธรรมบัญญัติจึงมีหน้าที่ให้เราทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพื่อเราจะรู้ว่า "บาป" มีจริง มีตัวตน และเราจะพบพระเยซู


4. บาปมีบางอย่างที่เชื่อมกับมารเป็นอย่างมาก 
1 ยอห์น 3:8 "ผู้ที่ทำบาปก็มาจากมาร เพราะมารทำบาปมาตั้งแต่ปฐมกาล" ดูเหมือนมารจะคล้ายๆกับบุคคลหรือพลังงานที่ชื่อ "บาป" เป็นอย่างมาก และทำให้คนทั้งโลกเริ่มทำบาปเหมือนกันด้วย

5.แล้วพระเยซูเกี่ยวอย่างไรครับ
ฮีบรู 9:15 "ด้วยเหตุนี้พระคริสต์จึงทรงเป็นคนกลางของพันธสัญญาใหม่ เพื่อบรรดาผู้ที่ทรงเรียกนั้นจะได้รับมรดกนิรันดร์ซึ่งทรงสัญญาไว้ เพราะพระคริสต์ได้ทรงวายพระชนม์เป็นค่าไถ่เพื่อปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระจากบาปซึ่งได้ทำภายใต้พันธสัญญาแรก" พระคริสต์ตายไถ่บาปของเราปลดปล่อยเราจากการเป็นทาสของ "บาป"  

6. บาปและพระคุณ
โรม 5: 21 "เพื่อว่าบาปได้ครอบครองในความตายฉันใด พระคุณจะได้ครอบครองผ่านทางความชอบธรรมเพื่อชีวิตนิรันดร์จะมาทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราฉันนั้น"  ในข้อนี้จะพบว่ามีฤทธิ์อำนาจอีกชนิดที่ตรงข้ามกับ "บาป" ฤทธิ์อำนาจชนิดนี้มาจากพระเจ้าครับ มีอิทธิพลในการช่วยเหลือผู้คนในด้านต่างๆ เช่นสามารถช่วยให้คนหลุดพ้นจากพฤติกรรมความบาป เปลี่ยนแปลงชีวิต หรือมารู้จักพระเจ้า มีการรักษาโรค มีการอัศจรรย์ เป็นฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระเจ้า "พระคุณ" มิได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบุญคุณของพระเจ้าที่เราไม่ควรได้รับแบบที่หลายๆกลุ่มเชื่อ ซึ่งพระคัมภีร์ระบุว่าพระเยซูเองเติบโตขึ้นมาบริบูรณ์ด้วย"พระคุณ" ในมุมมองของผมนะครับ "พระคุณ" คือการสถิตย์ของพระเจ้า คือหน้าหรือการทรงสถิตย์ของพระเจ้า คือการอัศจรรย์ ความช่วยเหลือ กำลัง ความคุ้มครอง ความรัก ที่มาจากพระเจ้า โดยไม่เกี่ยวว่าเราคู่ควรหรือไม่ พระเยซูตายเพื่อเราเป็นการที่พระเยซูกำลังบอกว่าเราคู่ควร 

ฮีบรู 4:16 "ฉะนั้นขอให้เราเข้ามาใกล้พระบัลลังก์แห่งพระคุณด้วยความมั่นใจ เพื่อเราจะได้รับพระเมตตาและจะพบพระคุณที่จะช่วยเหลือเราเมื่อถึงคราวจำเป็น" พระคุณเป็นอะไรที่เราเข้าไปรับได้ฟรีๆ เป็นกำลัง เป็นความช่วยเหลือ ไม่ใช่เรื่องของบุญคุณ มันแค่เป็นคำที่เรายืมศาสนาอื่นมาใช้ทำให้เข้าใจผิด 

7. ผมขอสรุปสั้นๆตอนนี้นะครับ "บาป" ไม่ใช่การทำผิดบัญญัติหรือศีลครับ แต่ "บาป" มีความเป็นบุคคล มีฤทธิ์อำนาจในการครอบงำ และเกี่ยวข้องกับมารเป็นอย่างมาก หรืออีกนัยหนึ่งตามคำพูดของผมเอง "บาป" คือการครอบครองของมาร เกี่ยวข้องกับมารผู้อยู่เบื้องหลังเป็นอย่างมาก "พระคุณ" คือการครอบครองของพระเจ้า มาทางพระเยซู และทุกคนสมควรได้ครับ 

8. อีกนิดหนึ่งนะครับ แล้ว "บาป" กับ "มาร" เกี่ยวข้องกันอย่างไร ผมขอยกตัวอย่างคำสองคำนะครับ "นาซี" กับ "ฮิตเล่อ" พูดถึงนาซีก็คือพูดถึงฮิตเล่อ พูดถึงกิจกรรมของนาซีสุดท้ายก็ไม่พ้นฮิตเล่อครับ "บาป" ก็สะท้อนถึงมาร

ท้ายสุดแล้วครับ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมพบ และต้องยอมรับว่ามันอาจจะไม่ถูกต้องซะทีเดียวมีหลายอย่างที่ยังไม่เข้าใจและยังต้องรู้จักพระเจ้าอีกมาก ต้องพึ่งพระคุณอีกมาก แต่อย่าน้อยผมก็หวังใจว่าเรื่องนี้จะเปลี่ยนความเข้าใจสิ่งที่พระเยซูทำบนไม้กางเขนอย่างมาก เรื่องของ "พระคุณ" จะยิ่งมีค่ามากขึ้น พระเยซูตายเพื่อเราจริงๆ ยกโทษบาปให้เรา และ "บาป" ไม่มีอำนาจในเราอีกต่อไป แต่พระคริสต์ต่างหากอยู่ในเรา เรากลายเป็นลูกที่รักของพระเจ้า นี่คือข่าวประเสริฐครับ

สวัสดี

16 พฤษภาคม 2559

: โบสถ์มี 4 ลักษณะ

John Wimber ได้บอกไว้ว่าโบสถ์มีลักษณะ 4 อย่าง คือ โบสถ์เป็นทั้ง โรงเรียน โรงพยาบาล ครอบครัว และกองทัพ ลักษณะต่างๆมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายคือการออกไปสร้างสาวก เราจะมาดูกันแต่ละลักษณะเป็นอย่างไรแบบง่ายๆสั้นๆเพื่อให้เข้าใจกัน

โรงเรียนเป็นช่วงเวลาที่จะมีการสอนตามที่พระคัมภีร์ได้บอกไว้ใน มัทธิว 28:18-20 พระเยซูทรงเข้ามาหาพวกเขาและตรัสว่า “สิทธิอำนาจทั้งสิ้นในสวรรค์และในแผ่นดินโลกทรงมอบไว้แก่เราแล้ว ดังนั้นจงไปสร้างสาวกจากมวลประชาชาติ ให้เขารับบัพติศมาใน พระนามของพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้เชื่อฟังทุกสิ่งที่เราสั่งพวกท่านไว้ และแน่นอน เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไปตราบจนสิ้นยุค” การสอนนั้นไม่ใช่เอาแต่ความรู้อย่างเดียวแต่เพื่อที่เราต่างเจอพระเจัา พบตัวเอง และเป็นผู้ที่มีชีวิตที่สะท้อนถึงพระคำ  ยากอบ 1:22-24 "อย่าเพียงแต่ฟังพระวจนะซึ่งเป็นการหลอกตัวเอง แต่จงปฏิบัติตามพระวจนะนั้น ผู้ใดที่ฟังพระวจนะแต่ไม่ได้ทำตาม ผู้นั้นก็เป็นเหมือนคนที่ส่องกระจกมองหน้าตัวเอง หลังจากส่องดูแล้วก็ไปและทันใดนั้นก็ลืมว่าหน้าตาตนเองเป็นอย่างไร"
โรงพยาบาลคือเวลาแห่งการรักษาเยียวยาแบบองค์รวมทั้งกายใจและวิญญาณ พระคัมภีร์บอกไว้ว่าพระเยซูมาเพื่อ.. ลูกา 5:31-32 "พระเยซูตรัสตอบพวกเขาว่า “คนสุขภาพดีไม่ต้องการหมอ แต่คนป่วยต้องการ เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจใหม่”" การเยียวยาคือส่วนหนึ่งของความรอดเสมอ โรคภัยไข้เจ็บเป็นผลจากการล้มลงของมนุษย์ที่มนุษย์เอาตัวเองมาอยู่ภายใต้การครอบครองของมาร การเยียวยารักษาจึงเป็นการทำลายงานของมารตามที่พูดไว้ใน 1 ยอห์น 3:8 ".......เหตุที่พระบุตรของพระเจ้าเสด็จมาก็คือเพื่อทำลายกิจการของมาร " ทุกครั้งที่มีการรักษาเกิดขึ้นนั่นก็คือการครอบครองของพระเจ้าได้มาถึงคนๆนั้น

การเป็นครอบครัวคือความผูกพันในแบบความสัมพันธ์ที่พระคัมภีร์ได้เรียกว่า ครอบครัวของผู้เชื่อ เช่นใน 1เปโตร 2:17 "...จงรักพี่น้องในพระคริสต์...."  กาลาเทีย 6:10 "...คนที่อยู่ในครอบครัวแห่งความเชื่อ" โดยเฉพาะในกาลาเทีย 3:26 "ท่านทั้งหลายล้วนเป็นบุตรของพระเจ้าโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ " ได้พูดอย่างชัดมากถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้เชื่อทั้งหลาย

กองทัพหมายถึงทั้งบุคคลและส่วนรวม เราต่างมีภารกิจในขณะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ภารกิจนั้นก็คือการนำข่าวดีของพระเยซูไปถึงทุกที่ที่เราไป และสร้างสาวกจากทุกชนชาติ 2 โครินธ์ 5:18 ".....ทรงมอบหมายพันธกิจแห่งการคืนดีนี้แก่เรา" ในความเป็นกองทัพนั้นเราจึงตั้งใจในการอบรม ฝึกฝน และส่งคนออกไปที่ต่างๆ และคาดหวังถึงโบสถ์ใหม่จะเกิดขึ้นเป็นผลต่อมาภายหลัง


จากสิ่งที่ได้เสนอไป โดยภาพรวมโบสถ์คือการแสดงออก และการทำงานของแผ่นดินของพระเจ้า หรือการครอบครองของพระเจ้าทั้งระดับส่วนตัว และกลุ่มคนที่เชื่อ เพราะฉะนั้นให้เราโดยส่วนตัวมีชีวิตที่เป็นโบสถ์คือให้เราเป็นทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ครอบครัว และกองทัพ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์ที่เป็น การแสดงออกแบบส่วนรวมด้วย ....