16 มกราคม 2559

: มองหาคนพิเศษ

ก่อนมารู้จักพระเจ้า ในเวลานั้นทางบ้านชอบพาไปหาหมอดู ทุกครั้งไปพร้อมกับหลายความรู้สึก ตื่นเต้นว่าเขาจะพูดอะไร แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกกลัว กลัวเขาจะพูดอะไรที่ไม่ดี มันเหมือนกับว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับคำพูดของหมอดูคนนั้น ความรู้สึกนี้ถูกตอกย้ำด้วยการเคารพที่เกินกว่ามารยาททั่วไปจากคนที่มาหา เช่นการให้เงินที่เยอะหรือให้สิ่งของที่แพงกับหมอดู หรือแม้การพูดคุยก็เล็งถึงความสำคัญในพลังพิเศษและอิทธิพลที่หมอดูมีอยู่เหนือคนที่ไปหา 

พอมาเชื่อพระเจ้าก็พบว่า ...

ในวงการคริสเตียนก็มีคนวิเศษที่มีสถานภาพคล้ายๆหมอดูในสังคมคนที่ไม่เชื่อพระเจ้า คือคนกลุ่มนี้ก็พร้อมที่จะเป็นคนพิเศษ แล้วก็มีกลุ่มคนที่พร้อมจะยกชูและยำเกรงคนพิเศษเหล่านี้ด้วยเงินทองคำพูดและสิ่งของเช่นกัน คนพิเศษเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญในโบสถ์และหรือมีความสามารถโดดเด่น เช่นสอนได้ เผยได้ รักษาโรคได้เป็นต้น บางครั้งการที่จะเป็นคนพิเศษก็จะอ้างเบื้องบนว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเจิมจากพระเจ้า

ช่วงแรกๆผมก็เป็นคนหนึ่งที่มองหาคนพิเศษเพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนธรรมดาที่ต้องพึ่งพาคนที่ดีกว่าเรา แต่แล้วก็เริ่มมีคำถามขึ้นมาหลังจากได้อ่านเจอพระคัมภีร์สองตอนในหนังสือกิจการ คือ กิจการ 3:1-16 และ 14:8-20 ทั้งสองเป็นเหตุการณ์ที่มีเนื้อหาคล้ายกัน ทั้งสองบันทึกถึงพฤติกรรมของอัครทูตที่มีต่อฝูงชนในขนาดที่ฝูงชนพยายามจะยกย่องสรรเสริญอัครทูตเพราะอัครทูตได้ทำการอัศจรรย์ จากพระคัมภีร์เราเห็นได้อย่างชัดว่าในทั้งสองเหตุการณ์ อัครทูตที่เกี่ยวข้องต่างพยายามปฏิเสธการถูกมองเป็นคนวิเศษโดยการปฏิเสธการยกย่องที่ฝูงชนจะให้ ใน กิจการ 3:1-16 หลังจากที่เปโตรได้รักษาคนง่อยที่ประตูพระวิหารและ "คนทั้งปวงต่างประหลาดใจและพากันวิ่งมาหาพวกเขาในบริเวณที่เรียกว่าเฉลียงของโซโลมอน" จากนั้นเปโตรก็พูดอย่างชัดมากว่าที่เขารักษาได้ไม่ใช่เพราะ "ด้วยฤทธิ์อำนาจหรือความชอบธรรมของเราเอง" และส่วนเหตุการณ์ที่สอง เปาโลฉีกเสื้อผ้าตัวเองแล้วพูดอย่างชัดว่า "ท่านทั้งหลาย เหตุใดจึงทำเช่นนี้ ? เราเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาเช่นเดียวกับพวกท่าน" 

ทั้งสองพยายามทุกอย่างที่จะไม่รับการยกย่องที่มองพวกเขาเป็นคนพิเศษ และพยายามบอกกับทุกคนว่าการที่เขาทำการอัศจรรย์ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขากลายเป็นคนวิเศษ  


จึงอดไม่ได้ที่มีคำถามว่าทำไมช่างแตกต่างจากสิ่งที่เห็นในวงการคริสเตียนปัจจุบัน !!! 




: วินิจฉัย vs พิพากษา

ในโบสถ์จะสอนเสมอว่าอย่าไปพิพากษาคนอื่นๆ
แต่พอได้หยุดคิดแล้วสังเกตุสภาพของคริสเตียนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่มีตำแหน่งเป็นผู้นำ จะพบว่าส่วนใหญ่ในคนกลุ่มนี้สับสนระหว่างการวินิจฉัยกับการพิพากษา พระคัมภีร์ได้บอกไว้ว่าตอนเรามารับเชื่อใหม่ๆนั้นเรารับความรู้และประสบการณ์อย่างง่ายๆที่เราไม่ต้องคิดมาก ซึ่งพระคัมภีร์ก็เปรียบสิ่งเหล่านั้นเหมือนน้ำนมที่เราไม่ต้องใช้แรงมากที่จะแยกแยะวินิจฉัย แต่พอเวลาผ่านไปเราก็ต้องเริ่มกินอาหารแข็ง ส่วนหนึ่งของการกินอาหารแข็งคือการแยกแยะวินิจฉัย พระคัมภีร์บอกให้เราวินิจฉัยวิญญาณที่อยู่เบื้องหลังการสำแดงต่างๆ (1โครินธ์12:10) วินิจฉัยคำเผยพระวจนะว่ามาจากพระเจ้าหรือเปล่า (1โครินธ์ 14:29) และวินิจฉัยคำสอนว่าเป็นคำสอนข่าวประเสริฐเรื่องพระคุณหรือเปล่า (กาลาเทีย 1:6-9; 2:14) 

นี่เป็นสิ่งพื้นฐานที่เราต้องทำ แต่สิ่งที่เห็นคือโบสถ์ไม่ค่อยสอนเรื่องการวินิจฉัย ทำให้ผู้ตามไม่กล้าที่จะวินิจฉัยกลัวว่าความคิดเห็นที่แสดงออกไปนั้นจะกลายเป็นการพิพากษา สุดท้ายการวินิจฉัยเลยตกอยู่กับผู้นำ พระกายก็อยู่ในสภาพที่ไม่โตหรือผิดปกติ ผู้ที่ควรกินอาหารแข็งก็ยังกินน้ำนม บางครั้งจึงเห็นผู้ตามมองหาแต่ผู้นำแทนที่จะมองไปที่พระเจ้า อีกสถานการณ์หนึ่งที่เห็นคือทั้งผู้นำและผู้ตามจะถูกซัดไปซัดมาตามคลื่นคำสอนต่างๆ ซึ่งบางครั้งทำให้หลงจากเป้าหมายที่พระเจ้าให้มาหรือสูญเสียตัวตนไปเลย 

ขอพระเจ้าช่วยพวกเราทั้งผู้นำและผู้ตามให้ลุกขึ้นและยืนอยู่บนความจริงซึ่งเป็นผลจากการวินิจฉัย


อยากอ่านความคิดเห็นจากคุณ ..... ? 


15 มกราคม 2559

: ตัวตนเราสำคัญ EP 5


การทดลองครั้งที่ 2  ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้าจงกระโดดลงไปเถิด เพราะมีคำเขียนไว้ว่า “ พระองค์จะทรงบัญชาทูตสวรรค์ของพระองค์ให้ดูแลท่าน ทูตเหล่านั้นจะยื่นมือประคองท่านเพื่อไม่ให้เท้าของท่านกระทบหิน "

ครั้งนี้มารล่อพระเยซูให้พิสูจน์ตัวตนด้วยการท้าท้ายให้พระเยซูกระโดดลงจากที่สูง ให้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์และเรียกร้องพระเจ้าให้ทำการอัศจรรย์มาช่วยพระเยซูออกจากสถานการณ์นั้น ทั้งนี้ก็เพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นคนพิเศษ แต่จากความจริงที่พระเยซูได้ยึดไว้และประกาศว่า "มีคำเขียนไว้เช่นกันว่า ‘อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน' " นั่นก็หมายถึงว่าถ้าพระเยซูทำตามที่มารเสนอเพื่อมาพิสูจน์ตัวตนของตัวเอง พระเยซูก็กำลังทดลองคุณพ่อ การทดลองแสดงถึงการไม่ไว้วางใจในพระเจ้าและความรักที่พ่อมีให้เรา การที่เราเลือกเอาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์ที่อันตราย หรือสถานการณ์ที่เกินความสามารถที่เราจะแก้ไขได้เองด้วยเหตุผลเพียงเพื่อพิสูจน์ว่าเราเป็นคนพิเศษที่พระเจ้าจะมาช่วยเราอย่างอัศจรรย์ มันช่างเป็นเหมือนเด็กเอาแต่ใจตัวเองที่เรียกร้องความสนใจและละเลยความรักจากพ่อที่ได้สำแดงมาแล้วและโยนความรับผิดชอบของเราให้กับพระเจ้า 

นอกจากทดลองพระเจ้าแล้ว เรากำลังเอาประสบการณ์พิเศษเป็นตัววัดคุณค่าของเราหรือเป็นตัวกำหนดตัวตนของเราเอง โดยมองข้ามความจริงที่ว่าการตายของพระเยซูบนไม้กางเขนคือความรักสูงสุดที่ได้สำแดงต่อเรา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กำหนดตัวตนของเราด้วย อย่างที่ได้เขียนไว้ใน 1 ยอห์น 3:1,16 " ความรักที่พระบิดาทรงมีต่อเราทั้งหลายนั้นใหญ่หลวงปานใดในการที่เราได้ชื่อว่าบุตรของพระเจ้า! และเราก็เป็นเช่นนั้น!...เช่นนี้เราจึงรู้ว่าความรักคืออะไร คือที่พระเยซูคริสต์ทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อเรา... "

บางเวลาพระเจ้าให้เรามีประสบการณ์พิเศษจากการที่พระองค์ทรงช่วยกู้เราจากปัญหาหรือจากอันตรายที่เราเลือกเข้าไปเอง หรือที่เราเป็นคนก่อ นั่นคือพระคุณและพระเมตตาจากพระเจ้า  แล้วยังมีประสบการณ์อื่นๆที่ทำให้เรารู้สึกถึงความรักของพระเจ้า ซึ่งทั้งหมดนั้นก็คือพระเจ้าทรงรักเรา ประสบการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะไม้กางเขน และอุโมงค์ที่ว่างเปล่า จากไม้กางเขนเราได้คืนดีกับพระเจ้า เราได้รับความรักจากพระเจ้า เราได้เกิดใหม่ พระคริสต์มาอยู่ในเรา ทั้งหมดนี้ก็เพราะการตายและการเป็นขึ้นของพระเยซู

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่จะให้ไม้กางเขนและอุโมงค์ว่างเปล่านั้นเป็นความจริงมากข้ึน ทำให้เราเป็นไทสู่การดำเนินชีวิตประจำวันด้วยตัวตนใหม่ที่มีพระเยซูอยู่ในเรา และให้เราสรรเสริญพระเจ้าทุกครั้งที่เรามีประสบการณ์พิเศษจากพระเจ้าที่ไม่เคยหยุดรักเราเลย ... 

4 มกราคม 2559

การแตกแยกในคริสตจักรกับไม้กางเขน


นคริสตจักรมีหลายสถานการณ์ที่เรียกร้องให้ผู้นำและผู้ตามหันมาเผชิญหน้ากันเพื่อแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์หนึ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดข้ึนในคริสตจักรเลยแต่ได้เกิดข้ึนมาเยอะพอสมควร นั่นก็คือการแตกแยกทั้งภายในและระหว่างคริสตจักร 

ที่ผ่านมาในเมืองไทยเราเห็นตัวอย่างมากมายที่คริสตจักรเกิดใหม่เป็นผลมาจากการแตกแยก แม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาใหญ่ แต่บ่อยครั้งเรากลับเห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจและทักษะเพียงพอที่จะเผชิญหน้าและแก้ไขสถานการณ์แบบนี้ด้วยกัน หลายครั้งเราเห็นการแตกแยกที่ปราศจากการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสิ้นเชิง โดยต่างฝ่ายต่างใช้ข้ออ้างบางอย่างมาแสดงว่าตนเป็นฝ่ายถูก เช่น เรากำลังเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ หรือ คริสตจักรเราได้ถูกเลือกจากพระเจ้าผ่านคำเผยฯ เป็นต้น 
ทุกการแตกแยกล้วนนำสู่ความเจ็บปวดที่ไม่มีใครอยากได้ ...  วิธีเยียวยานอกเหนือกจากขบวนการแก้ไขความขัดแย้งแล้ว การป้องกันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วย การป้องกันโดยมาทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้เกิดความแตกแยกแล้วมาหาทางกันไม่ให้มันเกิดข้ึน ทั่วไปเราพบว่ามีเหตุผลหลายประการที่ก่อให้เกิดการแตกแยก แต่จากพระคัมภีร์หนังสือ 1 โครินธ์ บทที่ 1 จะพบถึงเหตุผลหนึ่งที่เป็นการนำความแตก แยกเข้ามาในคริสตจักรอย่างแนบเนียน ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการหว่านเมล็ดแห่งการแตกแยกใน
คริสตจักร ที่พอรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว

สภาพการแตกแยกในคริสตจักรโครินธ์คือ “การโต้เถียงกันหลายครั้งในหมู่พวกท่าน ข้าพเจ้าหมาย ความว่าคนหนึ่งในพวกท่านกล่าวว่า "ข้าพเจ้าติดตามเปาโล" อีกคนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้าติดตามอปอลโล" อีกคนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้าติดตามเคฟาส" และอีกคนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้าติดตามพระคริสต์" "   ให้เราลองใส่ชื่ออาจารย์ที่เรารู้จักแทนที่ อาจช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์มากข้ึน ในกรณีนี้แม้อ้างติดตามพระคริสต์ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา คำถามที่ต้องถามคืออะไรทำให้คริสตจักรโครินธ์ซึ่งมีการใช้ของประทานอย่างมากมายมาถึงจุดนี้ได้ สิ่งแรกที่พบคือเปาโลบอกว่าเขาดีใจที่ได้บัพติศมาไม่กี่คนในโครินธ์ จากตรงนี้เราจึงเข้าใจได้ว่าคนในคริสตจักรมองไปที่ผู้นำหรือคนที่ทำบัพติศมาให้แก่เขาแล้วสรุปว่าจะตามใคร แต่แล้วเปาโลก็ประกาศชัดว่าเป้าหมายภารกิจของท่าน คือ "พระคริสต์ไม่ได้ส่งข้าพเจ้ามาเพื่อให้บัพติศมา แต่เพื่อให้ประกาศข่าวประเสริฐ" และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ "ไม่ใช่ด้วยวาทะคมคายตามสติปัญญาของมนุษย์เพราะเกรงว่าไม้กางเขนของพระคริสต์จะหมดฤทธิ์อำนาจ" นี่ก็บ่งบอกถึงเหตุผลหลักของการแตกแยกในคริสตจักรโครินธ์ที่ผ่านมา ทั้งผู้รับกับผู้สอนนั้นต่างมองหาแต่ "วาทะที่คมคาย" ที่ "ตามสติปัญญาของมนุษย์" แต่ไม่ได้ชี้ไปถึงหรือช่วยให้ผู้รับมองไปถึงไม้กางเขนซึ่งก็คือการตายและการเป็นข้ึน มาของพระคริสต์ ดังนั้นการประกาศหรือการสอนด้วย "วาทะคมคายตามสติปัญญาของมนุษย์" ก็กลายเป็นการหว่านเมล็ดการแตกแยกเข้าไปในคริสตจักรด้วย

"วาทะที่คมคาย" หมายถึงทักษะการนำเสนอข้อมูลความรู้ที่รวมถึงความมั่นใจในตัวเองในการนำเสนอ " ตามสติปัญญาของมนุษย์ " นี่ก็ชี้ถึงทักษะและข้อมูลความรู้ทั้งหลายที่ถูกเสนอ ซึ่งถ้าไม่ได้ชี้ไปถึงไม้กางเขนก็เป็นแค่สติปัญญาของมนุษย์ ซึ่งง่ายมากที่จะนำคนมองไปที่มนุษย์ ในกรณีนี้ก็คือผู้สอนหรือผู้นำ คนก็จะมองหาผู้นำที่เก่ง มีทักษะในการนำเสนอ ผู้นำที่ดูมั่นใจ มีของประทานฯที่มีความรู้รวมทั้งความรู้พระคัมภีร์ ผู้นำที่มีสิ่งต่างๆเหล่านี้ถ้าไม่ยอมลดความสำคัญของตัวเองลงแล้วนำผู้รับไปที่กางเขน เขาก็กำลังทำตัวมาแทนที่ความสำคัญของไม้กางเขน หรือที่พระคัมภีร์บอกว่า "เพราะเกรงว่าไม้กางเขนของพระคริสต์จะหมดฤทธิ์อำนาจ"

กิจการ 3:1-16 และ 14:8-20 ทั้งสองเป็นเหตุการณ์ที่มีเนื้อหาคล้ายกัน ทั้งสองบันทึกถึงพฤติกรรมของอัครทูตที่มีต่อฝูงชนในขณะที่ฝูงชนพยายามจะยกย่องสรรเสริญอัครทูตเพราะอัครทูตได้ทำการอัศจรรย์ จากพระคัมภีร์เราเห็นได้อย่างชัดว่าในทั้งสองเหตุการณ์ อัครทูตที่เกี่ยวข้องต่างพยายามปฏิเสธการถูกมองเป็นคนวิเศษโดยการปฏิเสธการยกย่องที่ฝูงชนจะให้ ในกิจการ 3:1-16 หลังจากที่เปโตรได้รักษาคนง่อยที่ประตูพระวิหารและ"คนทั้งปวงต่างประหลาดใจและพากันวิ่งมาหาพวกเขาในบริเวณที่เรียกว่าเฉลียงของโซโลมอน" จากนั้นเปโตรก็พูดอย่างชัดมากว่าที่เขารักษาได้ไม่ใช่เพราะ "ด้วยฤทธิ์อำนาจหรือความชอบธรรมของเราเอง" และส่วนเหตุการณ์ที่สอง เปาโลฉีกเสื้อผ้าตัวเองแล้วพูดอย่างชัดว่า "ท่านทั้งหลาย เหตุใดจึงทำเช่นนี้ ? เราเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาเช่นเดียวกับพวกท่าน" ทั้งสองพยายามทุกอย่างที่จะไม่รับการยกย่องที่มองพวกเขาเป็นคนพิเศษ และพยายามบอกกับทุกคนว่าการที่เขาทำการอัศจรรย์ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขากลายเป็นคนวิเศษ ' (ยกมาจากโพสต์วันที่ 5 ตุลาคม 2558 ใน เฟซบุ๊ต Thai Vineyard Friends Community)
"พวกยิวเรียกร้องหมายสำคัญ และพวกกรีกมองหาสติปัญญา" 

แล้วคนไทยพวกเรามองหาอะไร?  ผมขอใช้คำว่า 'ไฮบริด' คือเราคนไทยมองหาทั้งสองอย่าง เรามองหาคนที่ทั้งทำหมายสำคัญการอัศจรรย์ และคนที่มีสติปัญญารวมถึงความรู้พระคัมภีร์ แต่ถึงเวลาแล้วที่เราทั้งผู้สอนและผู้รับต้องมองไปที่ไม้กางเขนของพระเยซู แม้กางเขนจะเป็น “เป็นหินสะดุดสำหรับพวกยิวและเป็นเรื่องโง่ๆ สำหรับพวกต่างชาติ" เพื่อ "ให้ท่านทุกคนปรองดองกันเพื่อจะไม่มีความแตกแยกใดๆในหมู่พวกท่าน และเพื่อท่านจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ทั้งในความคิดและจิตใจ"


3 มกราคม 2559

ตัวตนเราสำคัญ EP. 4


ก่อนที่จะมาดูการล่อลวงที่พระเยซูต้องเผชิญ ให้เรามาทำความเข้าใจถึงสภาพของพระเยซูในเวลาที่ถูกล่อลวง ในพระคัมภีร์ไม่ได้มีคำบรรยายเกี่ยวกับสภาพของพระเยซู แต่มีข้อมูลที่ว่าเป็นการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร นั่นหมายถึงความแห้งแล้ง ความยากลำบาก ความโดดเดี่ยว ความขัดสน บวกกับการอดอาหารมา 40 วันหรือระยะเวลายาวระยะหนึ่งที่เพิ่มความต้องการทางกายที่หิวโหยและทางจิตใจที่เหนื่อยล้าในพระเยซู  

ดูเหมือนว่าวิธีการล่อลวงที่เกิดขึ้นกับอาดัมคนที่หนึ่งในปฐมกาลกับอาดัมคนที่สองหรือพระเยซูแมัจะแตกต่างกันในรายละเอียดหลายเช่น บุคคล เวลา สถานที่ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่เหมือนกันคือเป็าหมายของการล่อลวง นั่นคือการแย่งชิงการครอบครองโดยมีตัวตนของมนุษย์เป็นเดิมพัน ส่วนวิธีการล่อลวงก็คล้ายๆกันก็คือการพูดให้มนุษย์ปฏิเสธความจริงจากพระเจ้า(ที่บอกว่าเราดีแล้ว) และหลอกว่าตัวตนของเรายังไม่ดีพอ เราไร้ค่าเพราะมีจุดอ่อนหรือความต้องการต่างๆ แล้วให้หันมาพี่งตัวเองในการตอบสนองความต้องการนั้นๆ เชื่อว่าเพื่อสุดท้ายจะได้มาซึ่งตัวตนที่ดีขึ้นกว่าเดิม
การล่อลวงครั้งแรกของพระเยซู
มัทธิว 4: 2-4 
2 หลังจากอดอาหารสี่สิบวันสี่สิบคืนแล้ว พระเยซูทรงหิว 3 มารผู้ทดลองได้มาหาพระองค์และทูลว่า " ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้กลายเป็นขนมปัง "
4 พระเยซูตรัสตอบว่า " มีคำเขียนไว้ว่า ' มนุษย์ไม่อาจดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวแต่ดำรงชีวิตด้วยทุกถ้อยคำจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า '

"ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า" ข้อนี้ชี้ถึงเป็าหมายในการล่อลวงคือให้พระเยซูปฏิเสธตัวตนที่แท้จริงที่พระเจ้าให้มา หันไปเชื่อฟังมาร ซึ่งก็กลับไปเหมือนตอนปฐมกาลที่ถูกล่อให้เชื่อฟังมาร เพื่อจะได้มาซึ่งตัวตนที่ดีโดยผ่านการกระทำ แต่ครั้งนี้มารล่อด้วยการใช้สิ่งที่เรารู้สึกว่าขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต พระเยซูเผชิญด้วยการเชื่อความจริงเสมอแม้อยู่ในสภาวะที่มีความต้องการมากมาย ความต้องการกับอารมณ์ในเวลานั้นก็ไม่อาจลบหรือเปลี่ยนความจริงที่พระเจ้าได้กำหนดไว้ ความจริงก็คือในชีวิตเราทุกคนล้วนมีหลายสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิตตามความต้องการจากร่างกายใจและวิญญาณของเรา (เว้นแต่อากาศที่เราต้องการทุกเวลา) แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่เราขาดแล้วจะทำให้เราตายได้แม้กระทั่งการขาดอาหาร ในสถานการณ์นี้จากคำตอบของพระเยซู เรารู้ได้เลยว่านอกเหนือจากสิ่งทั้งหลายที่ตอบสนองความต้องการของเราแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยก็คือพระคำของพระเจ้าที่ช่วยดำรงชีวิตของเราไว้ 

ถ้าพระเยซูตกหลุมมาร พระเยซูก็เอาตัวเองมาอยู่ภายใต้มาร และปล่อยให้ตัวเองเชื่อคำโกหกว่ามีบางสิ่งในชีวิตที่เราขาดไม่ได้(ในกรณีนี้คืออาหาร) การล้มลงต่อการล่อลวงของมารจะเหมือนกับอาดัมคนแรกอีก ถ้าเป็นเช่นนั้นพระเยซูก็จะไม่เหมาะที่จะเป็นตัวแทนมนุษย์ไปที่ไม้กางเขน ดังนั้นความต้องการนั้นจึงเป็นตัวกำหนดตัวตนของเรา เราก็จะพยายามทำทุกสิ่งเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา และทำทุกอย่างเพื่อจะไม่ต้องสูญเสียมันไป ชีวิตและตัวตนของเราจึงมาอิงอยู่กับสิ่งนั้น แทนที่จะไว้วางใจในพระเจ้า

หลายครั้งในชีวิตเราจะได้ยินคนพูดกันว่า 'ทำเพื่ออยู่รอด' เราต่างต้องทำเพื่อให้ได้หลายสิ่งหลายอย่างมาที่เราเชื่อว่าเราต้องมีก่อนเราจึงจะอยู่รอดได้ เพราะความเชื่อนี้เราจึงมีวิถีชีวิตและนิสัยที่เปลี่ยนไป หรือ บางครั้งเราได้ยินตำพูดว่า 'ชีวิตนี้ฉันขาดเธอไม่ได้' ความเชื่อแบบนี้ทำให้เราต้องทำและเป็นทุกอย่างตลอดชีวิตเพื่อไม่ให้อีกคนหนึ่งจากเราไป ความสัมพันธ์เช่นนี้อาจเริ่มด้วยความรักและความห่วงใยแต่สุดท้ายก็กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ผูดมัดไร้เสรีภาพไปเลย

ให้เราต่างเป็นกำลังใจกันและกันที่จะเชื่อว่าพระคำที่ว่า ' มนุษย์ไม่อาจดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวแต่ดำรงชีวิตด้วยทุกถ้อยคำจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า ' เป็นความจริงที่ไม่ขึ้นกับความรู้สึกและอารมณ์ของเรา และเป็นความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแม้สภาวะรอบๆตัวเราจะเปลี่ยนไป


ตัวตนเราสำคัญ EP. 3


อะไรจะช่วยเราให้จะหลุดจากผลของอาดัมคนแรกได้ 
..............................
ข่าวดีมาแล้ว ข่าวดีคือพระเยซู พระคัมภีร์ได้บอกไว้ว่าพระเยซูมาเป็นอาดัมที่สองที่แตกต่างจากคนแรก จากอาดัมคนแรกมนุษย์ทุกคนได้ร่วมรับผลจากการล้มลงเพราะเราต่างเกิดมาตามสายของอาดัมคนแรก "เหมือนอย่างเขา ตามลักษณะของเขา" ปฐมกาล5:3 อย่างที่พระคัมภีร์พูดไว้ว่าจากหนึ่งคน ความตายก็มาสู่ทุกคน ข่าวดีที่มาถึงคือมีอีกหนึ่งคนที่สามารถช่วยทุกคนกลายเป็นคนชอบธรรมและมีชีวิตใหม่ได้ คนๆนั้นก็คือพระเยซูอาดัมที่สองที่เป็นตัวแทนให้กับมนุษย์ทุกคน 

ฉะนั้นจากการเกิดของพระองค์ที่ไม่ได้มาตามสายของมนุษย์ พระเยซูจึงเป็นมนุษย์คนแรกที่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของมารและกรอบศาสนา จึงเป็นมนุษย์ตลอดกาลที่ใช้ชีวิตโดยไม่มีบาปเลย จากสถานะนี้พระเยซูจึงเป็นเครื่องบูชาจากมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด


ในความเป็นอาดัมที่สองและเป็นตัวแทนของมนุษย์ พระองค์ต้องเผชิญกับการทดลองและล่อลวงจากมารที่มีตัวตนเป็นเดิมพัน การเผชิญหน้าครั้งนี้พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้นำพระองค์เข้าไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อให้มารมาล่อลวงในสภาพที่อิดโรยหลังอดอาหารมาได้ 40 วันหรือระยะยาวระยะหนึ่ง ก่อนถูกล่อลวงพระองค์ได้เจอเหตุการณ์สำคัญหนึ่ง นั่นคือการรับบัพติสมา ขณะที่พระเยซูขึ้นมาจากน้ำ มีปรากฏการณ์จากสวรรค์เกิดขึ้น ท้องฟ้าเปิด พระวิญญาณดั่งนกพิราบลงมาพักบนพระเยซู แล้วมีเสียงดังขึ้นว่า  "นี่เป็นลูกของเรา ผู้ที่เรารัก เราพอใจเขายิ่งนัก"
เป็นการประกาศและเป็นการประทับตราถึงตัวตนของพระเยซูว่าเป็นลูกที่รักและเป็นที่พอใจของพระบิดา ดังกับตอนที่พระเจ้าสร้างมนุษย์แล้วบอกว่าดี จากนั้นพระเยซูค่อยถูกพระวิญญาณฯพาไปให้มารทดลอง ...

ตัวตนเราสำคัญ EP. 2


ระบบหรือกรอบความคิดที่ว่าเราจะเป็นคนที่มีค่าหรือดีได้ด้วยการกระทำของเราเอง นี่คือความเป็นศาสนา 

มองอีกด้านหนึ่ง ความเชื่อและการกระทำของมนุษย์แบบนี้ก็ได้ปฏิเสธและบิดเบือนตัวตนที่ดีอยู่แลัวว่าตัวเองยังดีไม่พอ การตัดสินใจนี้จึงเป็นการปฏิเสธพระเจ้าที่เป็นแหล่งแห่งชีวิต และหันมาพึ่งตัวเอง มนุษย์ได้ผลักพระเจ้าออกไป และในการปฏิเสธพระเจ้านั้นบางสิ่งในมนุษย์ก็ตายไป สิ่งหนึ่งก็คือตัวต้นที่ดีก็ศูนย์เสียไป กลายเป็นตัวตนที่ถูกมารครอบครองและถูกกรอบศาสนาเป็นตัวกำหนดท่าทีมุมมองรวมถึงเหตุและผลของเรา การรู้จักตัวตนที่มาจากพระเจ้าและเชื่อเป็นจริงว่าตัวตนเราดีพอเพราะพระเจ้า มนุษย์ก็คงไม่ต้องล้มลงในความบาป

จากวันนั้นตัวตนของมนุษย์ก็เริ่มเสื่อมจากพระเกียรติสิริของพระเจ้า (โรม 3:23) ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งชั่วร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นแบบทวีคูณในมนุษย์ เช่น จิตใจมนุษย์เริ่มชั่ว พี่น้องฆ่ากัน มีความสัมพันธ์ในแบบผิดธรรมชาติ เป็นต้น แล้วมนุษย์ก็ตกอยู่ในวงเวียนแห่งการตามหาสิ่งต่างๆมาให้คุณค่าแก่ตัวตน นอกจากสภาพของมนุษย์ที่เสื่อมถอยแล้ว ธรรมชาติทั้งหลายก็เริ่มเสื่อมถอยเพราะมนุษย์ได้มอบการครอบครองให้กับมารผ่านการเชื่อฟังที่มนุษย์ให้กับมาร จากเหตุการณ์นี้เราจึงเห็นถึงความสำคัญของตัวตนของเรา 

นอกเหนือจากการที่เป็นเป้าแห่งการแย่งชิงในสงครามนี้ ยังเป็นตัวกำหนดมุมมองที่เรามองตัวเอง มองพระเจ้า มองทุกอย่างในชีวิตของเรา จากการล้มลงของอาดัมคนแรก  มนุษย์เราทุกคนตกอยู่ในตัวตนที่เสื่อมที่ถ่ายทอดจากอาดัมคนแรก เราไม่สามารถแก้หรือเปลี่ยนตัวตนของเราได้ เว้นแต่ว่าเรามีโอกาสได้เกิดใหม่เพื่อเป็นคนใหม่ เพราะการเปลี่ยนตัวตนก็คือการเปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่งเลย ...